การฝึกลูกให้ควบคุมตัวเองได้ เป็นสิ่งที่พ่อแม่หลายคนอยากทำได้สำเร็จ เพราะจะได้ไม่ต้องเสียแรงพูดเยอะเวลาที่ลูกต้องทำอะไร เช่นอ่านหนังสือ ทำการบ้าน หรือแม้แต่ทำงานบ้าน แต่ก็ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี คำตอบให้ฝึกลูกตามแนวทางการพัฒนา EF
สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกน้อยช่วงนี้คงแทบไม่มีใครไม่รู้จักนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้เป็นเจ้าของเพจในเฟสบุ๊คที่มีคนติดตามมากกว่า 4 แสนคน ในเพจนี้จะโพสต์เกี่ยวกับวิธีเลี้ยงลูกที่น่าสนใจให้เราอ่านเรื่อยๆ
สำหรับใครที่พึ่งมาติดตามเพจนี้ก็สามารถอ่านย้อนหลังได้ แต่สำหรับใครที่ไม่อยากย้อนอ่าน ไม่อยากหาหนังสือมาอ่าน ก็สามารถอ่านจากบทความนี้ได้ เพราะบทความนี้ได้นำเนื้อหาบางส่วนของหนังสือ เลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้ EF ที่เขียนโดยนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ มาสรุปย่อให้อ่านอีกที
การที่พ่อแม่อยู่ดีๆ จะบอกให้ลูกมีวินัย หรือบอกให้มีสมาธิจดจ่ออ่านหนังสือได้เอง ทำงานบ้าน หรือรับผิดชอบตัวเอง ไม่ใช่เรื่องที่ลูกจะสามารถทำได้เลยหากไม่ได้ถูกฝึกมาตั้งแต่แรก ทักษะเหล่านี้จำเป็นต้องมี EF ที่ดี ถึงจะทำออกมาได้ดี แปลว่าเราอยากให้ลูกมี EF และต้องเป็น EF ที่ดีด้วย
EF คืออะไร?
EF ย่อมาจาก Executive Function ประกอบไปด้วย 3 อย่างได้แก่
- การควบคุมตนเอง
- ความจำใช้งาน
- การคิดวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่น
ลูกมี 3 อย่างนี้ ก็คือมี EF และการที่เด็กมี EF ต่างกัน ก็จะโตมาต่างกัน และแนวทางในการสร้าง 3 สิ่งดังกล่าวสามารถแบ่งได้ตามช่วงเวลาของชีวิตเด็กโดยประมาณคร่าวๆ ได้ดังนี้
ช่วง 0-12 เดือนแรก สร้างความเชื่อใจ
ช่วง 12 เดือนแรกพ่อแม่ต้องดูแลลูกให้ดีที่สุด ไม่มีคำว่ามากเกินไปในช่วงนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเชื่อใจ เมื่อเชื่อใจก็จะพร้อมในการพัฒนาตัวเอง เพราะไม่มีอะไรต้องกังวล ถ้าไม่เชื่อใจ ทำอะไรก็มีแต่คนด่า คนตี งั้นอยู่เฉยๆ ดีกว่า
ช่วงนี้เราต้องโฟกัสที่การสร้างความเชื่อใจ เพราะความเชื่อใจนับเป็นต้นทางของทุกสิ่งต่อจากนี้
ช่วง 2-3 ขวบ สร้างสายสัมพันธ์แม่ลูก
ช่วงอายุ 2-3 ขวบแรก เป็นช่วงที่เราต้องสร้างแม่ที่มีอยู่จริง และต้องสร้างสายสัมพันธ์แม่ลูกไว้ให้ดี เพราะสายสัมพันธ์แม่ลูกทำให้ลูกไม่ออกนอกลู่นอกทาง หรือถ้าออกนอกลู่นอกทางก็จะกลับมาเร็วเพราะสายสัมพันธ์แม่ลูกได้รั้งไว้อย่างแน่นหนา
สร้างอย่างไร?
แม่คอยให้นมและอุ้มลูกให้มากที่สุด คอยเป็นกำลังให้ลูก ทุกครั้งที่ลูกหันมามอง แม่คอยเป็นกำลังใจ เชียร์ ตบมือ ลูกดีใจ ลูกโตขึ้นเขาเริ่มก้าวออกไป หันมามองน้อยลง เพราะไว้ใจว่าเรายังอยู่
นี่เรียกว่า Trust แม้ลับตาสายสัมพันธ์ที่ผูกกันไว้ทำให้ลูกรู้ว่าแม่ยังอยู่ เรียกว่า Attatchment
ช่วงประมาณ 3 ขวบลูกเริ่มสร้างตัวตน
ช่วงอายุประมาณ 3 ขวบ ลูกจะเริ่มสร้างตัวตนของตัวเองขึ้นมาโดยธรรมชาติ ในช่วงนี้ลูกจะลังเลระหว่างยังอยู่กับแม่หรือต้องการเสรีภาพและสร้างตัวตนของตัวเอง ถ้าสายสัมพันธ์แม่ลูกเข้มแข็งพอ ลูกก็จะสร้างตัวตนได้ง่าย เพราะเชื่อใจแล้วว่าแม่ยังอยู่ แต่สำหรับเด็กบางคนที่ยังไม่สามารถละจากแม่ไปได้ ก็มักเอาแม่ไปใส่ไว้ในวัตถุ เช่นตุ๊กตา หมอนข้าง ดังนั้นเวลาลูกขอตุ๊กตา หมอนข้างติดตัวไปไหนมาไหนด้วย ต้องให้ อย่าเอาทิ้ง เพราะเขายังไม่พร้อม
ด้วยสังคมปัจจุบันที่แม่ทำงานนอกบ้าน ทำให้ลูกมีโอกาสต้องพรากจากแม่ตั้งแต่ลูกยังไม่พร้อมอยู่มาก ไม่เป็นไร หลังเลิกงานรีบกลับมาเจอลูก เล่นกับลูกให้อิ่มๆ
ต่อไปนี้เขาจะใช้ตัวตนนี้เป็นประธานของประโยคในการดำรงชีวิตต่อไป
ช่วง 3-5 ขวบเน้นสร้างเซลฟ์เอสตีม (Self-esteem)
การมีเซลฟ์เอสตีม คือการที่เด็กรับรู้ว่าตัวเองทำได้ ทำเป็น และจะทำอีก สามารถสร้างได้ด้วยการทำอะไรเอง เช่น การฝึกให้ลูกกินข้าวเอง ช่วยเหลือตัวเองได้ เล่นสนุก ทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ได้พอให้ได้ชื่อว่า “เห็นมั้ย หนูทำได้” อย่าต่อว่าลูก เมื่อลูกทำไม่ได้ เพราะมันทำลายเซลฟ์เอสตีม
การเร่งรัดวิชาการทำลาย self-esteem ดังนั้นเมื่อลูกเลิกเรียน เราควรไปเอาลูกกลับมาบ้านให้เร็วที่สุด เล่นด้วยกันมากที่สุด ไม่ใส่ใจการบ้านหรือเกรดมากเกินไป จึงสามารถป้องกันการทำลาย EF ได้
ช่วง 3-7 ขวบ ฝึกควบคุมตัวเอง และฝึก EF
การฝึกลูกให้ควบคุมตัวเองได้
เมื่อลูกมีตัวตน ลูกต้องการเสรีภาพ แต่ลูกก็จะพบว่าไม่สามารถทำอะไรตามอำเภอใจได้ ลูกจึงต้องการการทิศทาง ลูกต้องมีทักษะในการสร้างเป้าหมายเพื่อกำหนดทิศทาง แล้วเราจะสอนให้ลูกสร้างสร้างเป้าหมายได้อย่างไร?
ฝึกให้ลูกทำงานบ้านง่ายๆ และเน้นให้ลูกเล่นให้อิ่มๆ ให้เยอะที่สุดเท่าที่จะเยอะได้ เพราะเวลาเล่นหรือทำงานบ้าน เด็กจะกำหนดเป้าหมายระยะสั้นเป็นครั้งๆ ตามการเล่น สมองได้ฝึกกำหนดเป้าหมาย และคิดหาทางทำให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ นอกจากนี้สมองได้ฝึกทักษะเกี่ยวกับการจดจ่อ ไม่ว่อกแวก และอดทนประวิงเวลาเพื่อทำงานให้เสร็จ
ดังนั้น การฝึกลูกให้ควบคุมตัวเองได้ จึงเริ่มจากการเล่นและการทำงานบ้าน การทำงานต้องใช้ความจำใช้งานเสมอ ความจำใช้งานก็คือความจำพร้อมใช้และสามารถนำมาใช้งานได้จริงๆ ไม่ได้เกิดจากการท่องจำ แต่เกิดจากการลงมือทำงาน ดังนั้นลูกๆ ต้องทำงานบ้าน แม้ไม่ชอบก็ต้องทำ
หากเราจะดูว่าลูกเราควบคุมตัวเองได้ดีหรือยัง ให้ดูจาก 3 ข้อต่อไปนี้
- ตั้งใจมั่น หรือ focus ก็คือ การที่ลูกสามารถมีสมาธิจดจ่อสิ่งหนึ่งนานพอที่จะทำให้สำเร็จ ทักษะนี้ต้องการการฝึกฝน ไม่ใช่มาบอกให้ทำแล้วสามารถทำได้เลย
- ไม่ว่อกแว่ก แม้จะมีอะไรมากวน ก็ยังสามารถควบคุมตัวเองให้ทำต่อไปได้ หรือแม้กำลังสนุก ก็สามารถหยุดตัวเองกลับไปทำงานต่อได้
- ประวิงเวลาที่จะมีความสุข หรืออดเปรี้ยวไว้กินหวาน ลำบากก่อนสบายทีหลัง อดทนเพื่อทำงานให้เสร็จลุล่วง
ฝึก EF
การฝึก EF จะเน้นไปที่การทำงานด้วยมืออย่างแท้จริง ไม่ใช่การนั่งเรียนหนังสืออย่างเดียว เพราะ EF เกิดและพัฒนาขึ้นเมื่อเด็กต้องเจอสถานการณ์ที่ต้องการการวางแผนซับซ้อน ท้าทายให้คิดวิเคราะห์ สร้างเป้าหมาย และลงมือทำ
เราจะฝึก EF ให้ลูกได้อย่างไร?
ฝึกให้ทำงานบ้าน และเล่น ถ้าทำงานบ้านให้กำหนดเวลาเพื่อเพิ่มความท้าทาย ถ้าเป็นการเล่นให้เพิ่มความยากของการเล่นให้มากขึ้นเรื่อยๆ
การให้เด็กเล่นหรือทำงานในช่วงแรกๆ เช่นต่อบล็อกไม้ ถูบ้าน เป้าหมายอาจไม่ชัดเจน แต่เมื่อมีกำหนดเวลามาเกี่ยวข้องเป้าหมายจะชัดเจนและซับซ้อนขึ้นทันที เพราะการกำหนดเวลาทำให้เด็กต้องหาทางทำให้ได้ตามเป้าหมายภายในกำหนดเวลา สมองจะคิดหาทางทำ อะไรทำก่อนทำหลัง หรือซอยย่อยงานให้เล็กลงแล้วค่อยทำ ฯลฯ สมองได้ฝึกคิดวางแผน การจดจ่อแก้ปัญหา เป็นการฝึกให้ลูกจดจ่อ ฝึกลูกให้มีสมาธิ กับการทำอะไรสักอย่าง ยิ่งความท้าทาย ความยากของงานมีมากขึ้น EF ก็จะสูงตามไปด้วย
การเล่นที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ฝึกให้เด็กมีการคิดแบบยืดหยุ่น แบ่งได้ 3 ระดับคือ
- ทักษะในการคิดเปลี่ยนมุมมองและเป้าหมาย สามารถฝึกได้จากการเล่นบล็อกไม้
- ทักษะในการเปลี่ยนแผน เปลี่ยนวิธีที่จะทำให้ได้ตามเป้าหมาย ฝึกได้จากการเดินป่า เดินทำแผนที่ การเดินทางจากแผนที่
- ทักษะในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ คือการเปลี่ยนตัวแปรเปลี่ยนการวัดผลไปเลย ฝึกได้จากการเล่นแบ่งกลุ่ม เช่น การแบ่งกลุ่มสัตว์จากตัวบ่งชี้ที่ต่างกัน มีสี่ขา, มีปีก, อยู่ในน้ำอยู่บนบก เป็นต้น
ดังนั้น การทำงานบ้าน-เล่นจริง-ทำการบ้าน ให้เสร็จทุกเย็นภายในเวลาที่กำหนดทำให้ได้ EF ที่ดี
ต้องฝึก EF ให้ทันช่วง 9-12 ปี
ช่วง 9-12 ปีเป็นช่วงที่กระบวนตัดแต่งวงจรประสาทมาถึง วงจรที่ใช้บ่อยจะถูกเก็บไว้ วงจรที่ไม่ค่อยได้ใช้จะถูกตัดทิ้งไป วงจรที่เราอยากเก็บไว้คือวงจรการควบคุมตนเองเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย หรือวงจรที่รองรับ EF ดังนั้นก่อนถึงช่วงเวลานี้เราจึงควรต้องใช้งานวงจรที่เกี่ยวกับการควบคุมตนเองไว้ให้มากที่สุด
การแบ่งช่วงเวลาดังกล่าว เป็นแค่การประมาณการเพราะเด็กแต่ละคนมีอัตราการเติบโต และพัฒนาการที่แตกต่าง และพัฒนาการบางอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาที่เหลื่อมกัน ไล่เลี่ยกันได้
EF ที่ดีเป็นอย่างไร?
เมื่อลูกเรามี EF แล้ว เราสามารถใช้แนวทางต่อไปนี้ในการประเมินว่าลูกเรามี EF ที่ดีหรือยัง
ต้องดูแลตัวเองได้
เราสามารถบอกได้ว่าลูกดูแลตัวเองได้แล้วหรือยังโดยดูจากการดูแลทั้ง 4 พื้นที่ต่อไปนี้
- เริ่มจากร่างกาย ได้แก่ การกิน กานนอน การเข้าส้วม แปรงฟัน อาบน้ำ ที่ว่ามานี้เด็กควรดูแลตัวเองได้
- รอบร่างกาย คือ ข้าวของเครื่องใช้ ของเล่น ที่นอน กระเป๋านักเรียน รู้จักเก็บทำความสะอาด
- บ้านทั้งหลัง ได้แก่งานบ้านต่างๆ
- พื้นที่สาธารณะ กติกาของส่วนรวม เช่นการใช้เสียง เข้าคิว
ต้องเอาตัวรอดได้
หมายถึงการเอาตัวรอดจากยิ่งยั่วยวน ความสุขฉาบฉวย ความรักสบายจนเคยตัวรวมถึงลาภยศ สรรเสริญจอมปลอม รู้จักอดทนต่อความยากลำบากก่อนที่จะสบายทีหลัง
ต้องมีแนวโน้มมีอนาคตที่ดีได้
อนาคตที่ดีไม่ได้แปลว่ารวย แต่คืออนาคตที่ไปได้เรื่อยๆ ไม่อับจนหนทาง ซึ่งเราพอจะบอกได้ว่าเด็กมีแนวโน้มที่จะมีอนาคตที่ดีได้จาก 3 ข้อต่อไปนี้
- เด็กต้องมีความสามารถในการมองเห็นข้างหน้า ระยะสั้นระยะยาว อยากรู้ว่าตัวเองอยากเป็นอะไรทำ อยากทำอะไร ใฝ่ฝัน แรงบันดาลใจ มุ่งมั่น passion ในสิ่งที่ทำ มองเห็นอนาคตที่ตัวเองเลือก
- วางแผนและลงมือทำ และหากรู้ว่าไม่เป็นก็จะไม่ร้องให้อยู่กับที่ ต้องวางแผนหาทางทำอะไรสักอย่าง
- ลงมือทำและรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำ ถ้าผลออกมาไม่ดีก็จะไม่โทษใคร แต่ะจประเมินตัวเอง ปรับแผน แล้วลงมือทำใหม่ ถ้าผลออกมาดีก็หาทางทำให้มันดีขึ้นอีก
หลายบ้านต้องการแค่นี้ แต่เพราะสังคมที่กดดันสูง บูชาเงินและชื่อเสียง การมี connection อยู่เหนือผู้อื่น เลยทำให้เรายิ่งกดดันลูกมากขึ้นไปอีก ทั้งที่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องพื้นฐานง่ายๆ อย่างการ ดูแลตัวเองได้ เอาตัวรอดได้ มีอนาคตที่ดีได้ ก็เท่านั้นเอง
ส่งท้ายเรื่องการเรียนรู้
- การเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้
- กระบวนการหาคำตอบสำคัญกว่าคำตอบ หาอย่างไร หาพบแล้วทดสอบอย่างไร กระบวนการหาคำตอบช่วยให้เด็กรู้ว่า ตัวเองยังไม่รู้อะไรอีก
- ครูและนักเรียนเท่าเทียมกันในกระบวนการเรียนรู้ เรียนรู้ไปด้วยกัน เพราะครูไม่ต้องรู้ทุกเรื่องก็ได้ เปลี่ยนจากการสอนมาเป็นการโค้ชแทน การเรียนรู้เกิดขึ้นในบรรยากาศที่มีเสรีภาพ ไม่เกิดด้วยการใช้อำนาจ
การฝึก EF เป็นการฝึกให้เด็กมีความสามารถในการควบคุมตัวเองได้ ไม่ทำทุกสิ่งทุกอย่างตามแต่อารมณ์จะพาไป มีวินัยมากพอ เมื่อถึงเวลาทำในสิ่งที่ต้องทำ ก็สามารถควบคุมตัวเองให้ทำได้ เช่น เมื่อถึงเวลาอ่านหนังสือ ก็สามารถควบคุมตัวเองให้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับการอ่านหนังสือได้ เป็นต้น
จะเห็นว่การสร้าง EF ที่ดีนั้น การเล่นเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเทคนิคในการเล่นกับลูกแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมก็คือการเล่นกับลูกสไตล์มอนเตสซอรี