หนังสือเทคนิคฝึกลูกนอนยาวสไตล์คุณแม่ญี่ปุ่น เขียนโดยเอ็ทสึโกะ ชิมิสึ อธิบายถึงวิธีฝึกให้เด็กเข้านอน ซึ่งเราสามารถฝึกลูกนอนยาวได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 5 ขวบ เป็นหนังสือขายดีที่ทำยอดขายในญี่ปุ่นไปกว่า 170,000 เล่ม อีกทั้งผู้เขียนยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการร้องไห้ตอนกลางคืนอีกด้วย (ในหนังสือเขียนมาแบบนี้ ผมว่าแปลกดี) หวังว่าบทความเกี่ยวกับ เทคนิคฝึกสอนลูกนอนยาว จะช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ได้บ้าง
สรุปหลักคิดจากหนังสือเล่มนี้
- ต้องเข้าใจก่อนว่าสาเหตุที่ลูกห้องไห้กลางคืนเกิดจาก 2 สาเหตุ หลัก คือ นาฬิกาชีวภาพแปรปรวน และการพาลูกเข้านอนที่ไม่ถูกวิธี
- นาฬิกาชีวภาพแปรปรวน คือ การที่ลูกแยกเวลากลางวัน และกลางคืนไม่ออก เราต้องฝึกโดยใช้หลักคิดที่ว่า กลางวันสว่างและเสียงดัง กลางคืนมืดและเงียบสงบ
- เด็กจะจำวิธีเข้านอน และนอนด้วยอุปกรณ์ช่วยนอนที่เคยชินเสมอ ความสบายของคุณแม่ขึ้นอยู่กับว่าลูกเข้าใจว่าอุปกรณ์ช่วยนอนของลูกคืออะไร
- ถ้าลูกร้องกลางคืน คุณแม่อย่าพึ่งรีบเข้าไปทำอะไร ลูกอาจจะแค่ละเมอ
สาเหตุที่ลูกร้องไห้กลางคืน
จริงๆ แล้วมีหลายสาเหตุแต่หลักๆ มีแค่ 2 แบบ คือ
นาฬิกาชีวภาพแปรปรวน
นาฬิกาชีวภาพเดินไม่สอดคล้องกับเวลาจริง — เกิดจากแม่ไม่ยอมปลุกลูกให้ตื่นขึ้นมาในตอนเช้า อาจเพราะว่าแม่กำลังยุ่งอยู่ ทำให้วงจรนาฬิกาชีวภาพของเด็กไม่ถูกรีเซ็ต สุดท้ายทำให้วงจรนาฬิกาชีวภาพคลาดเคลื่อนกับเวลาจริงไปเรื่อยๆ จนกลางวันกับกลาคืนสลับกันไปในที่สุด ทำให้เด็กสับสนและร้องไห้ขึ้นมากลางดึก แต่อาการแบบนี้จะหายไปเองเมื่อเด็กโตขึ้น
การร้องไห้กลางคืนในปัจจุบัน — แก้ยาก บางคนอาจไม่หายจนถึง 3 ขวบ นาฬิกาชีวภาพแปรปรวนเนื่องจากพ่อแม่มีรูปแบบการใชัชีวิตที่ชอบนอนดึก จึงทำให้ลูกเข้านอนดึกตามไปด้วย พ่อแม่สามารถแก้ด้วยการปรับการใช้ชีวิตประจำวันให้ กลางวันสว่างและเสียงดัง กลางคืนมืดและเงียบสงบ โดยเข้านอนตั้งแต่หัวค่ำ และตื่นแต่เช้า นอกจากนี้แล้วการให้ลูกอยู่ในห้องที่แสดงแดดส่งไม่ถึงทั้งวันและไม่ค่อยพาลูกออกไปข้างนอกยังเป็นสาเหตุทำให้นาฬิกาชีวภาพแปรปรวนได้อีกด้วย
วิธีพาลูกเข้านอนไม่เหมาะสม
มักเกิดขึ้นเมื่อลูกมีอายุประมาณ 7 เดือน เพราะเด็กเริ่มติดแม่ เด็กจึงต้องการการฝึกเข้านอน เด็กที่ฝึกตัวเองได้ดี จะแยกแยกเวลากลางวันกับกลางคืนได้ภายใน 3-4 เดือน และเมื่อ 6 เดือน ก็สามารถสร้างวงจรการหลับที่ดีได้ คุณแม่ก็ไม่เหนื่อย
เด็กทารกตื่นนอนตอนกลางคืนเป็นเรื่องธรรมชาติ
เด็กจะมีรอบในการนอนที่สั้นกว่าผู้ใหญ่ อีกทั้งยังหลับลึกน้อยกว่าผู้ใหญ่อีกด้วย ดังนั้นเป็นเรื่องปกติที่เด็กทารกจะตื่นกลางคืน แต่จะค่อยๆ เท่ากับผู้ใหญ่เมื่ออายุประมาณ 5 ขวบ
การร้องไห้ของเด็กทารกตอนกลางคืนไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้แม่ทำอะไรให้ไปเสียทุกครั้ง เพราะบางครั้งลูกแค่ละเมอร้องไห้ สะดุ้ง หรือละเมอแกว่างแขนแกว่งขาเท่านั้น ดังนั้นถ้าตอนกลางคืนลูกร้องไห้ทุกๆ 40-60 นาที ก็อาจเป็นแค่การละเมอร้องไห้ก็ได้ ให้ลองปล่อยลูกนอนต่อไปอีกสักพัก ไม่อย่างนั้นถ้าแม่ยิ่งเข้าไปปลุก จากละเมอก็กลายเป็นตื่นไปเสียได้ ต้องมากล่อมให้นอนกันใหม่อีกเป็นภาระหนักทั้งกับแม่และลูก
TIP
ถ้าลูกมีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ หรือดูเนือยๆ ตลอดเวลาให้คอยระวังอย่าให้ลูกได้รับน้ำตาลมากเกินไป ไม่ว่าจะมาจากน้ำผลไม้ หรือขนม
แก้ปัญหาการนอนของลูกด้วย 3 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 ปลุกลูกก่อน 7 โมงเช้า
- เปิดม่านให้แสงอาทิตย์ส่องถึง (ถ้าไม่มีแดดให้เปิดไฟแทน) จากนั้นให้สัมผัสและทักทายลูกเบาๆ จนลูกตื่น
- อย่าพึ่งรีบอุ้มเมื่อลูกตื่น ลูกจะงอแงเพราะงัวเงีย
- พาลูกไปทำกิจวัตประจำวันตอนเช้าพร้อมบอกลูกว่ากำลังจะทำอะไร และควรทำเหมือนเดิมทุกวัน
เมื่อลูกอายุ 1 เดือน เมื่อตื่นแล้วควรพาออกจากห้องนอน
ขั้นตอนที่ 2 ปรับเวลานอนกลางวันและทำกิจกรรมให้มากๆ
เวลานอนกลางวันของลูกมี 3 ช่วงคือ เช้า กลางวัน เย็น (ในหนังสือมีแนวทางการทำตารางการนอน หากสนใจลองหาซื้อหนังสือมาอ่านเพิ่มเติมดู)
ช่วงเช้าควรทำกิจกรรมต่างๆ ท่ามกลางแสงอาทิตย์ เช่น ไปเดินเล่นหรือเล่นข้างนอกบ้านเพราะแสงแดดกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งเมลาโทนิน จะทำให้รู้สึกง่วงนอนตอนกลางคืน
ช่วงกลางวันที่ลูกไม่นอน ควรเล่นกับลูก ให้ลูกเคลื่อนไหวร่างกาย เพราะสารเซราโทนินจะทำงาน ส่งผลให้จิตใจทารกสงบและหลับง่ายตอนกลางคืน
- 0-3 เดือน ให้เข้านอนเมื่อไหร่ก็ได้เมื่อเห็นว่าลูกง่วง ค่อยมากำหนดเวลาเริ่มนอนตอน 4 เดือนขึ้นไป
- การนอนกลางวันไม่ใช่ว่านอนนานแค่ไหนก็ได้ แต่ควรปลุกเมื่อเห็นว่าลูกนอนได้ครบตามเวลาคร่าวๆ ในตาราง
- หลัง 5 โมงเย็น ไม่ควรปล่อยให้ลูกนอนหลับ เพราะส่งผลต่อการนอนตอนกลางคืน
ขั้นตอนที่ 3 ทำให้ 30 นาทีก่อนนอนเป็นช่วงเวลาแห่งความอบอุ่น
หากตั้งเป้าว่าจะให้ลูกนอนตอน 2 ทุ่ม ดังนั้นเราควรทำกิจกรรมกับลูกให้เสร็จตอน 1 ทุ่มครึ่ง ให้เปิดไฟสลัวๆ โดยใช้แสงสีส้มเพราะทำให้จิตใจสงบและกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งเมลาโทนิน ที่ทำให้เกิดความรู้สึกง่วง โดยให้ส่องไฟทางอ้อม เวลานี้ให้เด็กกินนมหากยังไม่อย่านม หรือถ้าอย่านมแล้ว ให้อ่านนิทาน วาดรูป เล่นเบาๆ กับลูก หรือพูดคุยกับลูกช้าๆ เมื่อลูกพอจะพูดได้แล้ว และชม “สิ่งที่ลูกทำดี” อย่างเป็นรูปธรรม
หากเป็นไปได้ ควรนอนกับลูก เพราะทารกที่ได้นอนกับพ่อแม่ส่งผลดีกับจิตใจ จะทำให้มีสภาพจิตใจที่มั่นคง
เวลาที่ให้ทารกเข้านอนแล้วคือเวลาไหนก็ได้ ขึ้นอยู่กับชีวิตประจำวันของครอบครัว แต่ไม่ควรให้เข้านอนหลัง 4 ทุ่ม เพราะว่าดึกเกินไปและขัดกับธรรมชาติของเด็ก ส่วนจะให้ลูกนอนกี่ชั่วโมงนั้น ให้ลองพาลูกเข้านอนแต่หัวค่ำ และตื่นแต่เช้าแล้วสังเกตดูว่าลูกเราควรนอนวันละกี่ชั่วโมงถึงจะใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสดชื่น เพราะทารกแต่ละคนนั้นต่างกัน ดังนั้น การจะบอกว่าถ้าให้ลูกนอนเร็วก็จะยิ่งตื่นเร็ว เรื่องนี้ไม่จริงเสมอไป
ออกแบบตารางการนอนหลับที่ทำให้ทารกหลับสบาย
การออกแบบตารางการนอนหลับก็เป็นอีก เทคนิคฝึกสอนลูกนอนยาว อีกแบบหนึ่งที่คุณแม่ควรทำความเข้าใจรูปแบบการนอนหลับของลูก เพราะจะทำให้คาดเดาเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ ทำให้คุณแม่ใช้ชีวิตได้สบายใจมากขึ้น เพราะลูกจะถูกฝึกให้ตื่น และนอนเป็นเวลา
เมื่อทำตารางแล้วควรปฏิบัติต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์ และทำตอนที่ลูกสุขภาพแข็งแรงดี และอย่าลืมว่าเราไม่ควรเปลี่ยนลูกให้เข้ากับตารางที่เราทำขึ้นมา แต่ให้ใช้ตารางเป็นแนวทางโดยคุณแม่ต้องสังเกตลูกเองแล้วปรับเปลี่ยนให้เข้ากับลูก
แรกเกิด – 1 เดือน — ปล่อยให้วงจรชีวิตเป็นไปตามที่เด็กต้องการ ถ้านอนอยู่ก็ไม่จำเป็นต้องปลุกขึ้นมา แต่ควรเปิดไฟเวลาตื่นนอนตอนเช้า และปิดไฟเมื่อเข้านอนตอนกลางคืน
2-4 เดือน — ช่วงเวลาสำคัญในการฝึกฝนนาฬิกาชีวภาพ และเป็นช่วงที่ทารกสับสนกับเวลาได้ง่าย
ให้นึกว่าเวลานอนของลูกมี 3 ช่วงคือ เช้า กลางวัน เย็น ควรปลุกลูกก่อน 5 โมงเย็น เมื่อจังหวะการให้นมลงตัวแล้ว ควรค่อยๆ เลิกให้นมลูกทุกครั้งที่ร้อง แล้วหันมาให้นมตอนที่ลูกหิวแทน
5-6 เดือน — ค่อยๆ ลดเวลานอนเหลือ 2 ครั้ง คือ เช้า กับกลางวัน
7-8 เดือน — ลูกมักยึดติดกับการเข้านอนในแบบที่เคยชิน ถ้ารูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันลงตัวดีแล้วแต่ลูกยังร้องไห้ตอนกลางคืน ให้ลองเปลี่ยนวิธีพาลูกเข้านอนใหม่
ถ้าลูกตื่นบ่อยตอนกลางคืนช่วงนี้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่เพราะลูกหิว จึงไม่ควรทำให้หยุดร้องด้วยการให้กินนม
9-10 เดือน — เป็นวัยที่การเคลือนไหวในช่วงกลางวันส่งผลต่อการนอนมาก ดังนั้นควรให้ลูกคลานเล่น และเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเต็มที่
เด็กบางคนเริ่มจะเลิกนอนตอนเช้าได้ในช่วงอายุนี้ แต่บางคนอาจไปเลิกเมื่ออายุ 1 ขวบ 3 เดือน
1 ขวบ – 1 ขวบครึ่ง
อายุประมาณ 1 ขวบ 3 เดือน เด็กไม่จำเป็นต้องนอนตอนเช้าแล้ว แต่ยังต้องการการนอนกลางวันอยู่
1 ขวบ 7 เดือน – 3 ขวบ เด็กจะนอนกลางวันน้อยลง หรือบางคนไม่นอนเลย
ไม่ว่าจะจัดตารางแบบไหน ในช่วงวัยไหน ก็ต้องระวัง 3 ข้อต่อไปนี้ให้ดีๆ
- กลางวันต้องสว่างและเสียงดัง กลางคืนต้องมืดและเงียบ
- ไม่ว่านอนดึกแค่ไหนก็ควรปลุกให้ตื่นก่อน 8 โมงเช้า และดึกแค่ไหนก็ไม่ควรให้นอนหลัง 3 ทุ่ม
- ระวังอย่าให้นอนกลางวันมากเกินไป โดยเฉพาะถ้าให้นอนในช่วงเย็นก็ควรปลุกขึ้นมาเมื่อนอนได้ประมาณ 30 นาที
วิธีพาลูกเข้านอน
ทารกจะจำวิธีที่แม่พาเข้านอนด้วยความเคยชินตั้งแต่แรกเกิดว่าเป็นวิธีที่ทำให้หลับสบาย ดังนั้นแม่ควรพาเข้านอนด้วยวิธีเดิมทุกครั้ง ไม่เว้นแม้แต่เวลาที่ตื่นขึ้นมากลางดึก
หากเรารู้สึกว่ากำลังมีปัญหากับการเข้านอนของลูก อาจเพราะทารกยึดติดกับการเข้านอนรูปแบบเดิมมากจนไม่ยอมนอนด้วยวิธีอื่น ทำให้รู้สึกเป็นภาระอย่างมาก โดยเฉพาะการนอนให้นม ถ้าทารกจำฝังใจไปแล้วว่าเวลานอนต้องกินนม วิธีนี้อาจกลายเป็นภาระหนักของคุณแม่ได้เหมือนกัน
การทำให้ทารกรู้สึกอุ่นใจเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ทารกนอนหลับสบาย และความอุ่นใจสร้างได้จากความเคยชิน หมายความว่าการทำอะไรเหมือนเดิมทุกครั้งเป็นสิ่งสำคัญมาก
วิธีพาลูกเข้านอนสำหรับเด็ก 4 แบบ
- ทารกที่ขาดนมแม่ไม่ได้ กรณีนี้นมแม่ถือว่าเป็นอุปกรณ์ช่วยนอนไปแล้ว ให้เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นแทน เช่น ตุ๊กตา หรือผ้าขนหนู เมื่อลูกเริ่มง่วง ให้ยื่นอุปกรณ์ช่วยนอนให้ลูกรู้ว่านี่คือสัญลักษณ์ของการนอนหลับ คราวนี้เพียงยื่นให้ลูกก็สามารถหลับได้เองแล้ว
- เสียงดังนิดหน่อยก็ตื่นแล้ว สิ่งสำคัญคือการใช้ช่วงเวลาแห่งความอบอุ่นก่อนนอนทำให้เขารู้สึกอุ่นใจอย่างเต็มที่ แม่ควรอยู่ด้วยกันตอนลูกตื่นเพื่อให้ลูกเมื่อตื่นมาแล้ววางใจว่าแม่ไม่ได้หายไปไหนเพราะบางทีเด็กแค่ตื่นขึ้นมาเพื่อดูว่าแม่ยังอยู่หรือไม่
- เรียกร้องความสนใจจากแม่ ถ้าลูกเรียกร้องความสนใจ เช่น ปีนขึ้นบนตัวแม่ ตี จับหน้า ให้คุณแม่แกล้งหลับไม่ว่าลูกจะทำอะไรก็ตาม แล้วลูกจะมานอนข้างๆ เอง
- หลับง่ายแต่ชอบตื่นมาร้องไห้กลางดึก ให้ใช้วิธีทัวร์ก่อนนอน คือให้ลูกเดินไปบอกราตรีสวัสดิ์กับของเล่น ฯลฯ แล้วเข้านอน หรือจะใช้วิธีอ่านนิทานก่อนนอนก็ได้ แต่แนวคิดคือก่อนนอนให้ลูกค่อยๆ รับรู้ว่าต่อไปนี้เรากำลังจะเข้านอนแล้วนะ
ความคิดที่ว่าถ้าไม่อุ้มหรือไม่กินนมแล้วลูกจะไม่ยอมนอนเป็นสิ่งที่คุณแม่คิดไปเองทั้งนั้น ยังมีอีกหลายวิธีที่ทำได้ที่ทำได้โดยที่คุณแม่ไม่ต้องลำบาก
ถ้าเป็นวิธีที่ทำให้ทารกรู้สึกอุ่นใจได้ ไม่ว่าจะสบายแค่ไหนก็ถือว่าเป็นวิธีพาลูกเข้านอนที่ดีทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำเสียงชู่ๆ ข้างหู ท่องมนต์ ท่องสูตรคูณ เล่านิทาน แต่ไม่ว่าวิธีไหน สิ่งสำคัญที่เราต้องคิดไว้อยู่เสมอเมื่อหาวิธีพาลูกเข้านอนก็คือ “แม่สบาย ลูกอุ่นใจ”
ควรเปลี่ยนวิธีพาลูกเข้านอนเมื่อวงจรชีวิตประจำวันเข้าที่เข้าทางแล้ว เพราะถ้าทำตอนที่ยังไม่เข้าที่จะเป็นการทำให้เวลาที่ลูกอยากนอน กับเวลาที่แม่ให้นอนไม่ตรงกัน ลูกจะต่อต้าน
เมื่อเราเริ่มเปลี่ยนวิธีเข้านอน ประมาณ 3 วันแรกอาจเป็นเรื่องยากหน่อย แต่แม่ต้องอดทน ภายใน 2-3 ครั้ง เขาจะเริ่มเข้าใจได้เองว่า “แม่กำลังสอนให้นอนแบบนี้” เพราะทารกปรับตัวเก่งอยู่แล้ว แต่กฎเหล็กคือ ถ้าลูกงอแงให้ใจแข็งห้ามกลับไปใช้วิธีเดิมอย่างเด็ดขาดภายใน 1 สัปดาห์แรกที่เริ่มวิธีใหม่
พอเห็นลูกร้องไห้ไม่หยุด แม่หลายคนก็ใจอ่อน (เพราะสงสารลูก) แล้วกลับไปใช้วิธีเดิม นี่เป็นสาเหตุหลักทำให้เด็กไม่เคยชินกับการเข้านอนวิธีใหม่สักที คุณแม่ที่เคยทำไม่สำเร็จมาหลายครั้ง ส่วนใหญ่มักจะทนดูลูกร้องไห้ไม่ได้
ถ้าคุณแม่ไม่หนักแน่นพอและเลือกเปลี่ยนวิธีพาเข้านอนไปเรื่อยๆ ลูกจะไม่รู้สักทีว่าต้องทำยังไงถึงนอนหลับได้และยิ่งสับสนมากกว่าเดิม
ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนเปลี่ยนวิธีเร็วๆ ถ้าไม่สำเร็จ อาจเว้นไปประมาณ 1 เดือน ค่อยลองใหม่อีกครั้ง แต่สิ่งสำคัญก็คือ ไม่ว่าจะเปลี่ยนมาใช้วิธีใหม่หรือกลับไปใช้วิธีเดิม ก็ควรมีความชัดเจน เพื่อไม่ให้ลูกกังวลหรือสับสนโดยไม่จำเป็น
เทคนิคฝึกสอนลูกนอนยาวที่ต้องทำให้ได้
ไม่แนะนำให้นอนให้นมลูก เมื่อลูกร้องไห้ตอนกลางคืนแล้วแม่ปิดปากลูกด้วยการให้กินนม ลูกจะเห็นว่านมกับแม่เป็นของคู่กัน และเมื่อลูกตื่นลูกจะไม่ยอมนอนจนกว่าจะได้กินนม ในกรณีนี้แน่นอนว่าลูกไม่ได้หิว “แต่นมแม่ (เต้าแม่) ได้กลายเป็นอุปกรณ์ช่วยนอนไปแล้ว”
อย่าให้นมแม่กลายเป็นของช่วยนอน ไม่อย่างนั้นตอนกลางคืนทุกครั้งที่ลูกตื่น แม่ก็ต้องตื่นมาให้นมด้วย เพราะลูกร้องต้องการเต้านมแม่
หวังว่าบทความเกี่ยวกับ เทคนิคฝึกสอนลูกนอนยาว จะช่วยพ่อแม่มือใหม่ได้บ้างไม่มากก็น้อย