Home Book บันทึกการเสวนาหัวข้อ Battery-Driven Future

บันทึกการเสวนาหัวข้อ Battery-Driven Future

by khomkrit
1.8K views

ปีนี้ผมมีโอกาสได้ตั๋วเข้าร่วมงาน Blognone Tomorrow 2019 งานปีนี้มีหัวข้อน่าสนใจหลายหัวข้อ แต่ที่รู้สึกประทับใจจริงๆ คือหัวข้อ Battery-Driven Future ที่บรรยายโดยคุณสมโภช อาหุนัย ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (Energy Absolute)

บริษัท Energy Absolute (EA)

เส้นทางของบริษัท Energy Absolute (ในบทความนี้จะเรียกย่อว่า EA) แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่

  1. ช่วงแรกก่อตั้งเป็นบริษัทผลิตไบโอดีเซลก่อน (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549)
  2. เริ่มขยายธุรกิจเข้าไปทำพลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งก็คือทำ solar farm และทำ wind farm
  3. คือช่วงปัจจุบัน ที่จะมาเล่าให้ฟังในวันนี้

ปัจจุบันบริษัท EA ทำอยู่ 3 อย่างหลักก็คือ

  1. ลงทุนกว่า 1 แสนล้าน ที่บางปะกง เปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่มีขนาดกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงทดลองแนวคิด ถ้าทุกอย่างเป็นไปถูกต้อง เรื่องเทคโนโลยีได้ คอสได้ โปรดักส์ได้ ก็จะขยายโรงงานให้ผลิตพลังงานในระดับ 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อไป ซึ่งโรงงานขนาดนี้เป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ 1 location ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใหญ่กว่าโรงงานของ Tesla ที่ผลิตได้แค่ 35 กิกะวัตต์ชั่วโมง ซะอีก โรงงานแบบนี้ไม่เคยมีในเมืองไทยมาก่อน โดยเฉพาะในเรื่องของการแทบจะ fully automation ก็คือการใช้คนงานน้อย ใช้หุ่นยนต์เยอะในระดับที่ใน 500 ตร.ม. จะมีพนักงานเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่เหลือก็คือให้หุ่นยนต์ทำงาน
  2. สร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าภายใต้ชื่อ EA Anywhere เพื่อรองรับการอัดประจุของรถยนต์ไฟฟ้าทุกยี่ห้อ ตอนนี้มีกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล โดยมีเป้าหมายไว้ว่าจะสร้างทั้งหมด 1,000 สาขา (ภายในเวลาเท่าไหร่ไม่ได้ระบุไว้)
  3. วิจัยและพัฒนารถไฟฟ้าจากฝีมือคนไทย 100% เป็นคันแรกของประเทศภายใต้ชื่อ Mine Mobility ที่สามารถวิ่งได้ไกลถึง 200 ก.ม. ด้วยเวลาชาร์จเพียง 12 นาทีเท่านั้น นอกจากนี้ยังทุ่มเงินพันล้านบาทสร้างเรือพลังงานไฟฟ้า ด้วยฝีมือคนไทย 100% อีกด้วย

เหตุผลที่มาทำทั้ง 3 อย่างดังกล่าวก็คือ คุณสมโภชพบว่าคนไทยยังไม่มีใครทำอะไรแบบนี้ได้เลย ทั้งๆ ที่เรามีบุคลากรที่มีความรู้มากมาย เราเรียนเทคโนโลยีที่เป็น core ของเรื่องเหล่านี้มาแล้วตั้งแต่ 20 ปีที่ก่อน แต่เราไม่มีโอกาสในการพัฒนาเครื่องมือ ไม่มีโอกาสในการพัฒนาแลป ตอนนี้เราก็มีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เพียงพอที่เราจะทำอะไรพวกนี้ได้ จึงมองว่านี่แหละ ถึงเวลาแล้วที่เราจะมาเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองเสียที แทนที่เราจะซื้ออย่างเดียว ก็หันมาเป็นผู้สร้างบ้าง

ต้องเปลี่ยนวิธีคิดก่อน

เนื่องจากยุคนี้มีโอกาสให้คนที่กล้าทำและกล้าคิดเยอะมากกว่าสมัยก่อนเราจึงต้องมาเปลี่ยนวิธีคิดกันใหม่ อย่างแรกที่เราจะต้องทำก็คือคิดจากปัจจุบันไปอนาคต คิดให้เกิด new normal ไปเลย ซึ่งมันก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ที่บางทีอดีตมันไม่ได้ตอบอะไรเราเลย เพราะฉะนั้นเราต้องคิดจาก outside in มาก่อน โดยการที่เราเรามาฝันกันก่อนว่าเทคโนโลยีอะไรจะเกิดขึ้น อย่างเช่น รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicle) กำลังจะมา smart city, smart grid, renewable energy ก็เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง core ของทุกสิ่งที่กล่าวมามันคือแบตเตอรี ดังนั้นเราจึงทำโรงงานผลิตแบตเตอรี่

จุดเด่นของแบตเตอรี่จาก EA

คุณสมโภชเชื่อว่าเทคโนโลยีแบตเตอรี่ของตนเองน่าจะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเลยล่ะ ที่มั่นใจแบบนี้ก็เพราะว่า EA ได้เข้าไปซื้อบริษัทผลิตแบตเตอรี่ในใต้หวัน ชื่อ อมิตา เทคโนโลยี (บทความนี้จะเรียกย่อว่า อมิตา)

ทำไมถึงต้องเป็น อมิตา ?

ผู้ก่อตั้งอมิตาชื่อว่า ดร. จิมเฉิง (Dr. Jim Cherng) เขาเป็นกูรูด้านแบตเตอรี่ และเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านแบตเตอรี่ที่สุดในโลกคนหนึ่ง เขาเรียนด้านนี้และทำงานเรื่องนี้ที่อเมริกามาก่อน และเมื่อ 19 ปีที่แล้ว เขากลับมาใต้หวันแล้วก็มาตั้งโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียม ซึ่งพอมองย้อนไปสมัยนั้น โซนี่เริ่มผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมก้อนแรกประมาณ 20 ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นอมิตาเองก็นับว่าเป็นบริษัทแรกๆ ในโลกที่เริ่มเข้าไปวิจัยและพัฒนาการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม นั่นคือสาเหตุหนึ่งที่ว่าทำไมเราถึงเข้าไปลงทุนในบริษัทนี้

อมิตาเคยถูกลงทุนโดยบริษัทเดลต้าเทคโนโลยีซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในการทำ OEM ของใต้หวัน บริษัทนี้คิดเรื่องเรื่อง EV มาเมื่อสัก 10 กว่าปีที่แล้ว พอเดลต้ามาลงทุนก็พบว่าการลงทุนครั้งนั้นมันเร็วเกินไป ราคาก็ค่อนข้างแพง เพราะฉะนั้น EV จึงไม่เกิดในช่วงนั้น ประกอบกับใต้หวันเองเป็นประเทศที่เป็น OEM country มากกว่าที่จะมีแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งแบตเตอรี่ลิเทียมในช่วงแรกๆ ที่มันเกิดขึ้น มันเกิดจากคนที่มีแบรนด์ของตัวเอง เช่น โซนี่ ซัมซุง ดังนั้นถึงแม้ใต้หวันจะมีเทคโนโลยี แต่ไม่มีแบนรด์ของตัวเอง จึงไม่มีที่ใช้แบตเตอรี่ ก็ทำให้บริษัทแบตเตอรี่มันโตไม่ได้ ถ้าพูดง่ายๆ คืออมิตาเกิดผิดที่ ผิดเวลา

ต่อมา ถึงคราว EA บ้าง ที่มองเห็นโอกาสว่าถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วล่ะ เพราะ renewable energy ก็จะมา energy storage ก็จะมา EV ก็จะมา แถมภูมิภาค SEA ก็เป็นโซนที่มีการเติบโตทางด้านพลังงานค่อนข้างสูง ก็เลยเดินเข้าไปลงทุน เอาเทคโนโลยีของอมิตามาใช้ให้ถูกที่ถูกเวลา

ความพิเศษของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ของอมิตา

อมิตาได้ร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยของชาติใต้หวัน ชื่อ ITRI ซึ่งก็จะคล้ายๆ กับ สวทช บ้านเรา พัฒนาสารตัวหนึ่งที่ชื่อว่า STOBA สารตัวนี้เมื่อใส่เข้าไปในแบตเตอรี่แล้ว จะเป็นตัวที่ป้องกันการเกิดการช็อตเซอกิต (short-circuit) ที่ทำให้แบตเตอรี่ไฟไหม้ที่เรามักเห็นจากในข่าวบ่อยๆ ซึ่งสารตัวนี้ได้รับรางวัล R&D 100 awards มาถึง 2 ครั้งซ้อนแล้ว และบริษัทอมิตาเทคโนโลยียังถือว่าเป็นบริษัทเดียวในโลกก็ว่าได้ ที่สามารถเอาสารตัวนี้มาใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมในลักษณะที่เป็น commercial scale ได้สำเร็จ

แบตเตอรี่ยุคใหม่ ไม่จำเป็นต้องเป็นทรงกระบอกอีกต่อไปแล้ว

สาเหตุที่เมื่อก่อนแบตเตอรี่เป็นทรงกลม เพราะเมื่อก่อนเราเริ่มผลิตถ่านไฟฉายมาก่อน ดังนั้นพวกอุปกรณ์ในการทำแบตเตอรี่ที่เป็นทรงกระบอกมันมีมานานแล้ว เวลาเราผลิตแบตเตอรีลิเทียมครั้งแรกๆ เราก็ไปยืมอุปกรณ์พวกนี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่จริงๆ แล้วคุณสมบัติของแบตเตอรี่ที่ดีก็คือขั้วบวกกับขั้วลบมันควรต้องขนานกัน และสมมาตรกัน แต่การที่เราไปม้วนมันให้อยู่ในทรงกระบอก ทำให้ไม่สมมาตร ทำให้แบตเตอรี่มีอายุการใช้งานน้อยลง ดังนั้นหลังๆ เราจะเห็นแบตเตอรี่ที่เป็นสี่เหลี่ยม แบตเตอรีเหล่านี้ออกมาเยอะขึ้นเรื่อยๆ อมิตาก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน

#Tesla ก็พึ่งอวดงานวิจัยแบตเตอรีอันใหม่ของตัวเอง

สิ่งที่ Tesla ทำวิจัยอยู่ อมิตาก็เคยอยู่ในเส้นทางนี้มาก่อนแล้ว คนข้างนอกอาจจะมองว่า Tesla เป็นกูรูเรื่องแบตเตอรี่ เป็นกูรูเรื่องรถ EV จริงๆ เค้าเป็น trend setter อันนี้ยอมรับ แต่ถ้าอยู่ในวงการจริงๆ Tesla ไม่ได้เป็นบริษัทที่ผลิตแบตเตอรี่ได้ดีที่สุดในโลก แต่ที่เก่งจริงๆ จะมีแค่ 3 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลี และใต้หวัน

อมิตาเอง ก็มีการพัฒนาสิ่งเหล่านี้มาพอสมควรและร่วมมือกับ ITRI พัฒนาแบตเตอรี่ลักษณะนี้มานานแล้ว สิ่งที่เทสลาเคลมว่าชาร์จได้ถึง 7,000 รอบ นั้นน่ะ สิ่งเหล่านี้เค้ากำลังทำในแลป แต่ เรือไฟฟ้าของ EA เองที่กำลังจะออกมาปลายปีนี้เป็นการพิสูจน์แล้ว ไม่ใช่ของที่อยู่ในแลป แต่มันคือระดับ commercial scale และอยู่ใน production scale แล้ว พูดง่ายๆ คือแบตเตอรี่ของเราไปไกลกว่าแล้ว

สร้าง ecosystem

สถานีชาร์จ

EA จำเป็นต้องสร้าง infrastructure นอกเหนือจากการที่มีแบตเตอรี่ โดยเริ่มจากการเข้าไปร่วมทุนกับบริษัทจีนรายหนึ่งเพื่อทำชาร์จเจอร์ ทำ power electronics แล้วก็เอามาสร้างสถานีชาร์จชื่อว่า EA Anywhere โดยตั้งใจว่าจะต้องสร้างให้ได้ 1,000 สถานี โดย 400 สถานีอยู่นอกกรุงเทพและปริมณฑล และอีก 600 สถานีในกรุงเทพและปริมณฑล

600 สถานีในกรุงเทพและปริมณฑลทำให้เรามีสถานีชาร์จประจุทุกๆ 5 กม. ในเขตกรุงเทพปริมณฑล ตรงนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้าได้มากขึ้น และอีก 400 สถานีข้างนอก ก็คิดมาแล้วว่าถ้าวางกระจายทั่วประเทศจะพบว่าประมาณทุกๆ 50 กม. จะมี 1 สถานี ซึ่งก็ทำให้เราใช้รถ EV ได้มั่นใจมากขึ้น สะดวกสบายมากขึ้น

สิ่งที่ EA ทำอยู่นั้นนับว่า advance ที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ เพราะแม้แต่ super charger ของ Tesla เองก็ยังมี power อยู่ที่ประมาณ 120 กิโลวัตต์ ส่วนของเราที่ติดตั้งกันมาทำได้มากถึง 150 กิโลวัตต์ ซึ่งถือว่าสูงที่สุดที่มีอยู่ในตลาดแล้วตอนนี้ และอีกประมาณ 2 เดือนที่จะ launch เรือเฟอรี่ไฟฟ้าของเรา เราจะ launch super charger เวอร์ชั่นใหม่ที่สูงได้ถึง 300 กิโลวัตต์ไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งนั่นทำให้เราสามารถชาร์จได้เร็วขึ้นอีก ที่สำคัญยัง fully compatible กับมาตรฐานปัจจุบันอย่าง Combined Charging System (CCS)wiki อีกด้วย ดังนั้นจึงหมายความว่าชาร์จได้กับรถทุกคันที่มีมาตรฐานนี้อยู่ ก็คือไม่จำเป็นต้องเป็นรถยนต์ของ EA เองก็ได้ จะ EV ยี่ห้อไหนก็ได้ แต่เนื่องจาก ความเร็วในการชาร์จก็จะขึ้นอยู่กับรถยี่ห้อนั้นๆ แตกต่างกันไป จึงเป็นเหตุให้เราต้องพัฒนารถของเราขึ้นมาเอง โดยรถของเราสามารถชาร์จเพียง 12 นาที ก็วิ่งได้ไกลถึง 200 กม. แล้ว

และนี่น่าจะเป็นรถคันแรกในโลกที่ชาร์จด้วยความเร็วเท่านี้แล้วเอามา commercial จริงๆ ได้สำเร็จ

ค่าไฟฟ้า

ก่อนหน้านี้โครงสร้างค่าไฟฟ้ายังเป็นอุปสรรค เพราะบ้านเรายังไม่ค่อยส่งเสริมให้เกิด EV จริงๆ มากนัก แต่ปัจจุบันทางคณะกรรมการที่ดูเรื่องโครงสร้างค่าไฟมีการออกโปรโมชั่นขึ้นมาและทาง EA ก็ได้เข้าไป apply กับคณะกรรมการกำกับกิจกรรมพลังงาน หรือ ERC และตอนนี้ได้รับอนุมัติมาแล้ว ปัญหาเรื่องโครงสร้างค่าไฟที่เคยเป็นอุปสรรคจึงหายไป ดังนั้นอีกประมาณ 1-2 เดือนข้างหน้านี้ ที่ไหนที่ติดตั้งสถานีไปแล้วก็จะเริ่มเปิดใช้บริการ โดยที่ไม่ว่าจะใช้รถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อไหน ค่ายไหน ก็สามารถมาชาร์จไฟฟ้ากับ EA Anywhere ได้เลย

รถยนต์ไฟฟ้า

EA มองเห็น 3 เรื่องต่อไปนี้

  1. ฐานการผลิตในเมืองไทยเราสามารถผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ได้เกือบทุกชิ้นอยู่แล้ว ยกเว้นส่วนที่เป็นเครื่องยนต์กับเกียร์ ซึ่งพอเป็นรถไฟฟ้า 2 ส่วนนี้ก็ไม่ได้ใช้ ดังนั้นชิ้นส่วนที่เหลือจึงไม่เป็นปัญหา เพราะเราผลิตเองได้หมด
  2. อีกทั้งเมืองไทยเป็น auto hub ใน asian มาสักพักหนึ่งแล้ว ดังนั้นเราจึงมีวิศวะกรไทยที่เข้าไปทำงานอยู่ในบริษัทต่างชาติด้านการ research การขับรถ EA ก็เลยเชิญคนเหล่านี้เข้ามาทำงานด้วยซะเลย ซึ่งนี่ถือเป็นการ transfer technology ที่เร็วที่สุดแล้ว
  3. สถาบัน ITRI ที่ใต้หวัน เป็นสถาบัน research ชั้นนำสถาบันหนึ่งของโลก สิ่งที่ทำก็เช่น งาน autonomouse และอื่นๆ อย่าง 4G, 5G แล้วทาง EA ก็ไปจับมือกับสถาบันนี้เพื่อ transfer technology มาใช้ ทำให้เราสามารถทำ drive train ของเราได้เอง

EA จึงมีความรู้และเทคโนโลยีเพียงพอที่จะสามารถสร้างรถยนต์ของตัวเองขึ้นมาได้ และใช้ชื่อว่า Mine Mobility

Positioning ของรถไฟฟ้า

EA ทำตลาดโดยเริ่มจาก commercial vehicle ก่อน ก็คือรถยนต์ที่เอามาใช้ในเชิงพานิชย์ เช่น แท็กซี่ หรือรถตู้ สาเหตุที่ไม่เริ่มที่รถส่วนตัวเพราะมันใช้เงินในการทำการตลาดมากกว่า เสี่ยงมากกว่า และจุดที่ค่ายอื่นไม่ยอมไปเริ่มที่ vehicle commercial แบบเดียวกับ EA เพราะว่า solution ในการชาร์จเค้าทำไม่ได้ และทาง EA เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ขนาดกำลังพอดี ดังนั้นการที่เราจะทำ demo infrastructure จึงเหมาะสมที่สุดแล้ว

จุดที่พยายามจะเน้นก็คือเรื่องอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ เนื่องจากแต่เดิมถ้าเราชาร์จเร็ว แบตเตอรีก็จะเสื่อมเร็ว และหากไม่ต้องการให้แบตเตอรีเสื่อมเร็วก็ต้องชาร์จช้าๆ ซึ่งนั่นคือ pain point ของรถยนต์ไฟฟ้า และการขาร์จนานมันก็จะไม่เหมาะกับ commercial vehicle เพราะล้อมันต้องหมุนอยู่ตลอดเวลาถึงจะไม่เสียโอกาสทางธุรกิจ แต่รถยนต์ของ EA ใช้เวลาชาร์จเพียง 12 นาทีก็วิ่งได้ 200 กม. แล้ว ดังนั้นถ้าจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสักคันไปใช้งานเชิงธุรกิจรถของ EA จึงเหมาะสมอย่างยิ่ง

สิ้นปีนี้โรงประกอบรถยนต์ฺจะสร้างเสร็จ และคิดว่ารถที่เป็น full commercial จริงๆ จะออกมาช่วงต้นปีหน้า 5,000 คัน ซึ่งตอนนี้ก็ถูกจองไปเกือบหมดแล้วด้วย แต่จะเปิดให้จองเพิ่มที่อิมแพ็คตอนต้นปีหน้า

ศูนย์ซ่อมบำรุงและบริการ

คุณสมโภชบอกว่าถ้ารถไฟฟ้ามา สิ่งที่เกิดขึ้นต้องมีธุรกิจบางธุรกิจเสียผลประโยชน์ ดังนั้น EA จึงทำ 2 อย่างต่อไปนี้

  1. ไปค้นหาบริการที่เกี่ยวข้อง เช่นพวก car care, service center ต่างๆ ไปจับมือกับเค้า ไปคุยกับเค้าว่าถ้ารถไฟฟ้ามาแล้ว คนไม่เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไม่เข้าไป service บ่อยๆ เหมือนเดิมแล้ว ธุรกิจเขาจะอยู่อย่างไร เราก็บอกเค้าว่า ถ้ารถไฟฟ้ามา คุณมา service รถเราไหม? อันนี้ก็ win-win
  2. ไปศึกษากับคนนเหล่านี้ว่าเค้า stock ชิ้นส่วนอะไร เราก็ทำ reverse engineering กลับไปยังขั้นตอนการออกแบบรถเลย ดึงชิ้นนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในรถของเรา อะไรที่นิยมใช้กัน เราก็เอาชิ้นนั้นมาประกอบกันเป็นรถยนต์ของเรา ลดปัญหาเรื่องอะไหล่ เรื่อง stock

ตลาดพลังงาน

การที่จะให้ทุกอย่างต่อเนื่องกันได้หมด ซึ่ง core หลักมันคือแบตเตอรี่ เราจะต้องสร้าง network ขึ้นมา มันต้องเกิด smart grid มันต้องเกิด application ต่างๆ ดังนั้นมันควรต้องมี infrastructure อีกตัวที่จะ link สิ่งเหล่านี้เข้ามาหากัน

ปัจจุบันระบบไฟฟ้าของเราจะคล้ายๆ กับก้างปลา คือจากโรงไฟฟ้าใหญ่ๆ แล้วก็กระจายไฟฟ้าจากเส้นเลือดใหญ่มาเส้นเลือดฝอย แล้วส่งต่อมาที่ครัวเรือน ต่อไปนี้ มันจะเปลี่ยนไปกลายเป็น loop ซึ่งก็คือคนซื้อคนขายอาจจะเป็นคนคนเดียวกันก็ได้ มันจะซับซ้อนมากขึ้น เราเลยทำตลาดพลังงานให้เกิดขึ้น เพื่อให้คนซื้อคนขาย link เข้าหากัน ชื่อว่า Gideon เป็น energy trading platform ของเราเอง

จุดเด่นคือทำการ match ราคาซื้อขายพลังงานไฟฟ้า ลงขายสินทรัพย์ หรือซื้อไฟฟ้าได้ ใช้ blockchain มี auto trade ฯลฯ อารมณ์น่าจะคล้ายๆ ซื้อขายหุ้น

ทิ้งท้าย

อุตสาหกรรมพลังงานเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่กับเรามาโดยตลอด แต่กลับเปลี่ยนแปลงน้อยมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ซึ่ง EA พยายามจะเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมนี้ ทั้งหมดนี้เมืองไทยยังไม่เคยมีใครพยายามทำกันมาก่อน จริงๆ คนในวงการรู้เรื่องพวกนี้พอสมควรเลย แต่ว่า mindset ยังไม่ได้ เพราะเราไม่กล้าทำ รอให้ที่นั่นที่นี่ทำกันให้เสร็จก่อน แล้วเราค่อยไปซื้อ เพราะแบบนี้ก็เลยยั้งตัวเองที่จะไม่ทำ แต่บริษัท EA มี DNA มาแล้วตั้งแต่ต้น ทุกอย่างที่ทำมาตั้งแต่แรก ทำเองทุกอย่าง ออกแบบเอง สร้างเองหมด เวลาจะทำอะไรใหม่ๆ เลยไม่ค่อยรู้สึกว่าไม่กล้า ดังนั้น EA จึงมักเป็นคนแรกๆ ที่เข้าไปทำสิ่งเหล่านี้

คุณสมโภชเชื่อว่าจริงๆ คนไทยเก่ง แต่คนไทยไม่มีโอกาสที่จะได้ทำสิ่งเหล่านี้ ดังนั้นเขาจึงกำลังจะพิสูจน์อะไรบางอย่างว่าคนไทยเองก็ทำได้ ทำเทคโนโลยีระดับโลกได้ เราอาจจะมีข้อเสียเปรียบอยู่บ้างในเรื่องที่คนอื่นมักมองว่าคนไทยยังไม่มีความสามารถในการทำสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าเราทำให้มันเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้ ทำให้มันเกิดการยอมรับขึ้นมาได้ คุณสมโภชเชื่อว่า มันจะเกิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับประเทศ และมองว่าประเทศไทยเราน่าจะหลุดจาก Middle income trap ที่เรามีปัญหาอยู่ในปัจจุบันได้

ยุคนี้เป็นยุคที่น่าสนใจ เพราะคนที่จะเป็น leader ได้ อาจจะไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุดก็ได้ เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงเดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงทีละเยอะๆ ซึ่งนั่นเป็นโอกาสให้กับคนที่มาใหม่ๆ ถ้าเรากล้าคิด outside in แบบที่บอกไป ถึงแม้มันจะยากหน่อย แต่ผมว่าผลตอบแทนที่ได้ของการที่เราทำแล้วประสบความสำเร็จ มันคุ้มค่าพอที่เราจะเข้าไปลองมัน

ภาพประกอบ: blognone.com

You may also like