Home Book เล่นกับลูกสไตล์มอนเตสซอรี

เล่นกับลูกสไตล์มอนเตสซอรี

by khomkrit
4.1K views

โดยทั่วไปผู้ใหญ่มีวิธีรับมือกับการเล่นซนของเด็ก 3 แบบคือ

  1. ไม่ให้เล่นเลย
  2. ถ้าเด็กเล่นซน ก็ต้องดุ
  3. ไม่ปล่อยให้เสียโอกาสที่จะใช้การเล่นซนเป็นเครื่องมือในการสอนเด็ก

วิธีการสอนแบบมอนเตสซอรีจะใช้แบบที่ 3 ก็คือการมองว่าความผิดพลาดเป็นโอกาสให้พ่อแม่ได้สอนเด็กๆ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเด็กทำน้ำหก สิ่งสำคัญไม่ใช่การดุ แต่คือการคิดหาทางแก้ไขด้วยกันต่างหาก

ทฤษฏีมอนเตสซอรีเกิดขึ้นจากแนวคิดของมาเรีย มอนเตสซอรี แพทย์หญิงชาวอิตาลี และต่อมาทฤษฏีนี้ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก โดยแนวคิดของการสอนก็คือ “เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมความสามารถที่จะเติบโตและพัฒนาได้ด้วยตัวเอง” ผู้ใหญ่แค่คอยให้ความร่วมมือ ให้อิสระ และให้การสนับสนุนก็พอ

ช่วงวัยเพียงสั้นๆ ตั้งแต่แรกเกิดที่เด็กสามารถพัฒนาทักษะได้สูงสุด จะช่วยสร้างรากฐานไปตลอดชีวิต

เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับทักษะที่จะพัฒนาตัวเองอยู่แล้ว ช่วงเวลาตั้งแต่หลังคลอดจนถึง 3 ขวบ จะถือว่าอยู่ใน “ช่วงไวต่อการเรียนรู้” ที่เห็นได้ชัดที่สุด ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เด็กจะแสดงให้เห็นถึงทักษะที่ติดตัวมาแต่เกิด เด็กจะพัฒนาให้เห็นถึงนิสัย และช่วงนี้ยังเป็นช่วงเวลาแห่งการสร้างรากฐานของชีวิต เป็นช่วงที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะต่างๆ

ระยะไวต่อการเรียนรู้ถูกค้นพบโดยนักชีววิทยาชื่อเดอฟรีส (De Vries) ซึ่งบอกว่าสิ่งมีชีวิตที่พึ่งเกิดจะแสดงทักษะที่ติดตัวมาแต่กำเนิด โดยทักษะเหล่านี้มีเวลาจำกัด

การเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรียังมีแนวคิดว่าเด็กต้องเลือกอุปกรณ์การเรียนการสอนเองเพื่อให้เด็กรู้สึกว่า อยากลองทำดู และจะให้ความสำคัญกับ “ช่วงไวต่อการเรียนรู้” จนกระทั่งถึงอายุหกปี ดังนั้นเราจึงต้องสร้างสภาพแวดล้อมผ่านการเล่นสนุกเพื่อส่งเสริมให้เด็กพัฒนาทักษะที่ตัวเองอยากทำได้มากที่สุดในช่วงเวลานี้ (ช่วงไวต่อการเรียนรู้) ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือ ่อแม่จะต้องไม่บอกให้ทำ

ในทางประสาทวิทยาบอกว่า ร่างกายจะสร้างระบบเครือข่ายในสมองภายใน 3 ขวบแรก หากเราไม่ได้สร้างเอาไว้เมื่อโตขึ้นเด็กอาจทำสิ่งนั้นไม่เก่ง หรือต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการฝึกฝน แม้ลูกโตขึ้นมาแล้วจะลืมทักษะเหล่านั้นไปบ้าง แต่สมองก็สามารถเรียกทักษะนั้นกลับคืนมาได้

พ่อแม่ต้องสังเกตว่าลูกชอบทำอะไร ชอบเล่นอะไร เพราะการเล่นซนของลูกมีความหมายบอกให้เรารู้ว่าเด็กอยากพัฒนาทักษะนี้ หรืออยากใช้ทักษะนี้ ดูว่าลูกชอบเล่นซนแบบไหน และนั่นคือโอกาสของเราแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ดึงกระดาษทิชชู่ ดึงผม หยิบของออกมาจากกล่อง ถ้าลูกทำแบบนี้ซ้ำๆ ก็แปลว่าเขาอยากพัฒนาทักษะทางด้านนั้น

หากเรามองว่าการเล่นซนเป็นสัญญาณที่บอกว่าเด็กกำลังพัฒนาหรืออยากเจริญเติบโตขึ้น เราก็จะไม่มองว่าการเล่นซนเป็นเรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป ยกตัวอย่างเวลาเราเห็นลูกเอาช้อนมาเคาะกับจานเสียงดังเวลากินข้าว บางคนอาจดุลูก แล้วบอกว่าไม่ได้นะ แต่สิ่งที่เราควรทำจริงๆ ก็คือคอยสังเกตความหมายของสิ่งที่ลูกกำลังทำ เช่นในกรณีนี้ก็อาจคิดได้ว่า เราลองหาอะไรมาให้ลูกเคาะดีนะ? ลูกน่าจะชอบความรู้สึกตอนเคาะเล่น?

นิ้วมือคือสมองที่สอง

คุณมิกะ อิโต ผู้เขียนหนังสือ Hipparidasu! Kobosu! Otosu! Sono Itazura wa Kodomo ga Nobiru Sign Desu (ฉบับแปลไทย: เล่นกับลูกสไตล์มอนเตสซอรี) คลุกคลีอยู่ในวงการเนิร์สเซอรีมา 26 ปี เคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลมาแล้ว 9 ปี พบเจอเด็กมาแล้วไม่ต่ำกว่า 9,000 คน ได้พบว่าเด็กในช่วง 10 ปีนี้มีพัฒนาการถดถอยลง จากการสังเกตเห็นว่า เนื่องจากเด็กมีโอกาสใช้มือของตัวเองลดลงมาก เพราะของเล่น กิจกรรมที่เปลี่ยนไป และเทคโนโลยีต่างๆ ในปัจจุบันพัฒนาขึ้นมาก อีกเหตุหนึ่งก็คือพ่อแม่ก็มักทำทุกอย่างให้ลูกไปเสียหมด อีกทั้งพ่อแม่บางคนอาจกังวลเรื่องความปลอดภัย จึงจำกัดใก้ลูกทำอยู่ไม่กี่อย่าง และบางครั้งถึงกับจำกัดพื้นที่ของลูกไปเลย

การใช้นิ้วมือทำอะไรสักอย่างหนึ่งสำหรับผู้ใหญ่แล้วเป็นเรื่องปกติง่ายๆ แต่สำหรับเด็กเล็กเป็นเรื่องที่ต้องใช้สมาธิและสมองเป็นอย่างมาก ดังนั้นการให้เด็กใช้นิ้วมือบ่อยๆ ตั้งแต่ยังเล็กจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาสมอง หากไม่เริ่มพัฒนาสมองไว้ตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อโตขึ้นอาจมีทักษะพื้นฐานต่ำกว่าคนทั่วไปได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว เราจึงควรเตรียมอุปกรณ์ที่ช่วยให้เด็กจงใจใช้นิ้วมือของตัวเองไว้ ซึ่งในหนังสือเล่มนี้แนะนำการเตรียมอุปกรณ์ไว้เล่นกับลูกเพื่อพัฒนาทักษะไว้มากถึง 17 ทักษะ

การเข้าสู่ภวังค์ช่วยส่งเสริมให้เกิดสมาธิ

เมื่อเด็กได้เลือกของเล่นด้วยตัวเองเพราะว่าสนใจที่จะเล่นเพื่อพัฒนาทักษะนั้น ทำให้เด็กมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่อยากทำ ซึ่งการให้เด็กได้มีประสบการณ์การเล่นแบบใช้สมาธิตั้งแต่ยังเล็ก เป็นการเสริมสร้างสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ ให้เด็กได้ เมื่อเด็กจดจ่ออยู่กับอะไรมากๆ จนพ่อแม่เรียกก็ไม่ได้ยิน อาการแบบนี้เรียกว่า “เข้าสู่ภวังค์” การฝึกแบบนี้ทำให้เด็กสามารถปรับโหมดความคิดได้เก่งเมื่อถึงเวลาต้องโฟกัส เขาก็จะเข้าโหมดโฟกัสได้ง่าย เพราะถูกสร้างนิสัยมาแล้วตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อถึงเวลาต้องตั้งใจเรียนก็สามารถเปลี่ยนโหมดมาโฟกัสที่การอ่านหนังสือได้ง่าย

วัยต่อต้าน

เมื่อลูกถึงวัยประมาณ 2 ขวบ ไม่ว่าเราจะพูดอย่างไรก็ตามลูกมักจะบอกว่า “ไม่เอา” เสมอ ลูกจะอยากทำ อยากคิด ด้วยตัวเองไปหมด วัยนี้เรียกว่า “Terrible Twos” หรือ “วัยต่อต้าน”

สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำก็คือพยายามเรียนรู้ให้เข้าใจว่าเหตุใดลูกจึงมีพฤติกรรมแบบนี้ หากเราเข้าใจลูกดีแล้วเราจะพบว่านั่นไม่ใช่การต่อต้านอีกต่อไป เราจะเปลี่ยนมาคิดว่า “อ๋อ ลูกกำลังอยากทำแบบนี้สินะ” แล้วเราก็ช่วยกันหาทางออกให้ลูกพอใจด้วยการพูดว่า “งั้นลองทำแบบนี้กันไหม?” เด็กก็จะสงบและพอใจได้จากใจจริง ผลที่ได้ก็คือพวกเขาก็จะไม่โวยวาย

การที่เราทำความเข้าใจพฤติกรรมลูกจนสามารถสื่อสารถึงกันได้เช่นนี้ ก่อให้เกิดความเชื่อใจระหว่างแม่กับลูก และทำให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง กลายเป็นพลังให้ก้าวข้ามปัญหาต่างๆ ไปได้เมื่อเขาโตขึ้น

การได้เลือกเองในสิ่งที่อยากทำ ช่วยให้เด็กมีความมั่นใจและพึ่งพาตัวเองได้

อย่างที่เล่าให้ฟังก่อนหน้านี้ว่าพ่อแม่ต้องให้ลูกเลือกของเล่นด้วยตัวเอง คุณแม่ห้ามพูดว่า “ของเล่นนี้น่าสนุกนะ ลองเล่นดูสิ” หรือไปบังคับให้ลูกเล่นเด็ดขาด ต้องให้เด็กตัดสินใจเล่นเอง

เมื่อเด็กได้เลือกของเล่นและเล่นด้วยตัวเองจนเกิดความรู้สึกว่า “ทำได้แล้ว” บ่อยครั้งเข้า เขาจะมีความมั่นใจในตัวเอง และก็จะรู้สึกอยากทำมากขึ้นอีก ทำให้เกิดความกระตือรือร้นทำอีกเพราะเด็กรู้สึกอยากทำ แม้จะไม่สำเร็จเด็กก็จะพยายามทำซ้ำอีกหลายๆ ครั้ง ทำให้เด็กเติบโตขึ้น

หากเด็กไม่ชอบเพราะอาจคิดว่า “ฉันทำไม่ได้” รู้สึกกลัว หรือไม่พยายามลองทำดู แสดงว่าเด็กคนนั้นมีประสบการณ์เคยทำบางสิ่งจนประสบความสำเร็จมาได้ไม่มากพอ จึงมักหันไปพึ่งหรือขอให้พ่อแม่ทำให้แทน

เราจะต้องให้ลูกได้สัมผัสถึงอารมณ์ความสำเร็จในแบบ “หนูก็ทำเองได้” บ่อยๆ เพื่อให้ลูกค่อยๆ เกิดความมั่นใจในตัวเอง สร้างนิสัยพยายามทำบางอย่างให้สำเร็จจนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในอนาคต

การที่ลูกได้ใช้ทักษะที่มีอยู่อย่างเต็มที่จนเกิดความพอใจแล้ว เมื่อเด็กโตขึ้น ทักษะของเขาจะยังคงพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง เช่น เมื่อเด็กเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาแล้ว เขาจะเป็นเด็กที่กระตือรือร้นอย่างมาก และมักค้นหาสิ่งที่ตัวเองอยากทำอยู่เสมอ กล้าพูดในสิ่งที่ตัวเองคิด และเป็นที่พึ่งหรือเป็นผู้นำให้กับคนอื่นได้

เล่นให้สอดคล้องกับพัฒนาการ

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเห็นว่าลูกชอบทิ้งของลงพื้น หรือชอบเอาก้อนกรวดไปหยอดลงท่อระบายน้ำ นั่นแปลว่าเขาต้องการฝึกทักษะ “การหยิบใส่และตกลง” เราก็ควรทำของเล่นลักษณะเดียวกันให้ลูกเล่น

การเล่นแบบต่างๆ

บทความนี้สรุปเนื้อหามาจากหนังสือ เล่นกับลูก สไตล์ มอนเตสซอรี เขียนโดย มิกะ อิโต (216 หน้า) ซึ่งได้นำเสนอวิธีเล่นกับลูกแบบต่างๆ โดยแต่ละแบบเหมาะสำหรับการเล่นที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกต่างๆ กัน เรียงจากง่ายไปยาก พ่อแม่ต้องพยายามสังเกตพฤติกรรมของลูกว่า ถ้าลูกมีพฤติกรรมแบบนี้ ก็จะเหมาะกับการเล่นแบบนี้ และในหนังสือยังบอกเหตุผลอีกว่าถ้าเด็กมีพฤติกรรมแบบนี้แล้ว ทำไมเด็กถึงจะสนใจเกมนี้ และจุดมุ่งหมายในการเล่นแต่ละเกมคืออะไร โดยแบ่งการเล่นออกเป็น 17 แบบได้แก่

  1. การหยิบใส่และการทิ้งให้ตกลง
  2. การดึง
  3. การหยิบด้วยปลายนิ้ว
  4. การเขย่าหรือตี
  5. การฉีก
  6. การขว้างปา
  7. การยกหรือหิ้วไปมา
  8. การย้ายของใส่ภาชนะ
  9. การสวมหรือสอด
  10. การหนีบ
  11. การบิดและการหมุน
  12. การตัด
  13. กรรแปะ
  14. การเช็ดและการบิด
  15. การพับ
  16. การล้าง
  17. การม้วน

นอกจากนี้ ในหนังสือ ผู้เขียนยังยกตัวอย่างกรณีศึกษาต่างๆ มาอธิบายให้เราได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น พร้อมกับวิธีทำของเล่นที่ช่วยพัฒนาทักษะทั้ง 17 แบบอีกด้วย

เคล็ดลับการเล่นให้ได้ผลดี

สิ่งสำคัญคือต้องรอจนกว่าลูกจะยื่นมือเข้ามาเอง ตอนแรกเราอาจนั่งเล่นอยู่คนเดียว แล้วให้ลูกดูเฉยๆ จากนั้นวางของเล่นเอาไว้ หากเด็กเกิดความคิดว่าฉันก็น่าจะทำได้นะ เขาจะยื่นมือเข้าหาของเล่นเอง หากลูกยังทำไม่ได้แล้วเราไปบังคับ เขาก็จะหมดความกระตือรือร้น

การพูดว่า ลองดูสิ สนุกดีนะ ถือเป็นคำต้องห้าม เทคนิคคือเราต้องแสดงท่าทีสนุกสนานให้เขาดู สิ่งสำคัํญที่สุดก็คือ คุณแม่จะต้องทำให้ดู และทำให้ลูกรู้วิธีทำ

พ่อแม่ควรพูดว่า “ลองทำดูไหม?” แล้วให้ลูกตัดสินใจเอง แทนที่จะพูดว่า “ลองทำดูสิ” เพราะการพูดว่า “ลองทำดูสิ” นั้นเหมือนแรงกดดันสำหรับเด็ก แม้จะเป็นการเปลี่ยนคำพูดเพียงเล็กน้อย แต่การถามเช่นนี้เป็นการบอกว่าเด็กสามารถเลือกได้ เมื่อเราถามเด็กจะมีสิทธิ์ตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำ ทำให้เขารู้สึกสบายใจ

เราควรวางของเล่นไว้ในจุดที่ลูกเห็นได้ง่าย เช่นบนชั้นวางของ เมื่อเขาสนใจ เขาจะเข้ามาหยิบเล่นเอง ไม่ควรวางไว้ในกล่องเพราะก่อนจะเล่นลูกต้องหยิบออกมาก่อน ทำให้เลือกของเล่นได้ยาก

การสั่งสมประสบการณ์ “เลือกด้วยตัวเอง ทำให้สำเร็จ จดจ่ออยู่กับมัน ได้ทำจนพอใจ” ตั้งแต่เด็กจะทำให้เด็กมีความสนใจใฝ่รู้ กระตือรือร้นอยากลองทำไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม

การเป็นคนใฝ่รู้เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ความสำเร็จมากกว่าที่จะมาจากนิสัยส่วนตัว ทฤษฏีการใช้ของเล่นนี้จึงเป็นการสร้างประสบการณ์ดังกล่าวให้เด็กตั้งแต่ยังเล็กโดยที่เด็กไม่รู้ตัว

สรุป

  • เด็กต้องเลือกของเล่นให้ตัวเอง
  • การเล่นเมื่อพร้อมจะช่วยสร้างรากฐานทักษะไปตลอดชีวิต
  • เมื่อเด็กต้องการเล่นอะไร แปลว่าเด็กต้องการพัฒนาทักษะในด้านนั้นๆ
  • ช่วง 3 ขวบแรกสำคัญมากเพราะเป็นช่วง “ไวต่อการเรียนรู้”
  • พ่อแม่ไม่ต้องบอก หรือบังคับให้ลูกเล่นอะไร
  • ห้ามดุเมื่อลูกเล่นซน แต่ให้ทำความเข้าใจว่าทำไมลูกถึงมีพฤติกรรมเช่นนั้น
  • หาโอกาสในการสอนจากการสังเกตพฤติกรรมของเด็กอย่างสม่ำเสมอ
  • ให้ลูกตัดสินใจเองว่าจะทำ หรือไม่ทำอะไร เช่นการถามลูกว่า “ลองทำดูไหม?” แทนที่จะบอกว่า “ลองทำดูสิ”

You may also like

1 comment

Comments are closed.