Home Coding แนวทางการศึกษา Vue.js ด้วยตัวเองใน 30 นาที

แนวทางการศึกษา Vue.js ด้วยตัวเองใน 30 นาที

by khomkrit
12.3K views

การเริ่มศึกษาอะไรสักอย่าง สำหรับบางคนแล้วอาจต้องการแค่ขอให้เริ่มได้อย่างเร็วๆ ให้เห็นภาพรวมให้ได้ก่อน เพื่อให้ตัวเองจับต้นชนปลายได้ถูก แล้วหลังจากนั้นจึงสามารถศึกษาเองต่อได้ ซึ่งจะมาช้ามากๆ ก็ตอนเริ่มต้นแรกๆ นี่แหละ ผมจึงลองสรุปสาระสำคัญ สำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้น Vue.js ด้วยตัวเองอย่างเร็วๆ มาให้อ่านกัน และหวังว่าจะทำให้ผู้อ่านสามารถจับต้นชนปลาย มองเห็นภาพรวมของ Vue.js ได้อย่างรวดเร็ว โดยเลือกทิ้งสาระสำคัญเชิงลึกหลายส่วนไป อย่างไรก็ตามหากสนใจสามารถหาอ่านเพิ่มเติมต่อได้ใน Official Guide ของ Vue.js เองต่อไป

เนื้อหา

  • ติดตั้งเครื่องมือในการใช้งาน Vue.js – npm และ Vue CLI
  • สร้างเว็บแอปฯ ด้วยไฟล์ .vue – Instant Prototype
  • รู้จัก Vue Instance
    • เก็บข้อมูลด้วย Data
    • คำนวนข้อมูลก่อนออกมาใช้ด้วย computed
    • Lifecycle
      • ถูกสร้าง – created()
      • ถูก attatch เข้าใน DOM – mounted()
    • ลูป, เงื่อนไข, ดักจับ event ด้วย Directive
      • v-for, v-if, v-else, v-on, v-bind
    • การสร้าง และใช้งาน methods
  • แบ่งส่วนหน้าจอเป็นชิ้นๆ ด้วย – components
    • ส่งค่าเข้าออกจาก component ด้วย props, slot, $emit
  • อ้างถึง element ใน DOM
    • $refs, ref
  • อธิบายการกำหนด path/routing โดยใช้ Vue-Router
  • อธิบายการเก็บสถานะขอแอปด้วย Vuex

ติดตั้ง npm

โหลด node.js จากที่นี่ https://nodejs.org/en/ มาติดตั้งให้เสร็จสรรพ

ติดตั้ง Vue CLI 3 และ Vue CLI Service Global

เปิด command line แล้วพิมพ์คำสั่งต่อไปนี้

$ sudo npm install -g @vue/cli
$ sudo npm install -g @vue/cli-service-global

หลังจากติดตั้งเครื่องมือดังกล่าวเสร็จ เราก็พร้อมลงมือทำแอปด้วย Vue.js แล้ว

Instant Prototype

เราจะใช้ไฟล์ .vue ในการทำ app ไฟล์นี้แต่ละไฟล์ก็คือ Vue Instance ตัวหนึ่งที่จะถูก Vue runtime เรียกใช้ในระหว่างการรันโปรแกรม โดยไฟล์นี้จะประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก แต่ละส่วนก็คือ tag HTML ต่างๆ ดังนี้

template

ใช้สำหรับใส่เนื้อหาที่ต้องการแสดงในหน้าเว็บ โดยหลักแล้วจะประกอบไปด้วยแท็ก HTML

script

ใช้สำหรับเขียน script เพื่อควบคุมส่วนต่างๆ ของแอป หรือควบคุมเนื้อหาใน <template></template> อีกที

style

ใช้สำหรับกำหนด style ให้กับเนื้อหาใน <template></template>

จากทั้ง 3 ส่วนที่กล่าวมา จะพบว่า แต่ละส่วนก็คือ ส่วนแสดงผล ส่วนควบคุมการแสดงผลและการคำนวน และส่วนกำหนดลักษณะของการแสดงผลนั่นเอง

แสดงเนื้อหา

เริ่มจากการสร้างไฟล์ Person.vue ขึ้นมา ซึ่งไฟล์นี้ก็คือ Vue Instance 1 ตัวที่เราสร้างขึ้นมา จากนั้นให้ใส่ ส่วนที่ 1 ที่กล่าวไปตอนแรก โดยมีเนื้อหาดังนี้

<template>
  <h1>Hello Vue</h1>
</template>

จากนั้นรันดูผลลัพธ์

$ vue serve Person.vue

จะเห็นว่าหน้าจอแสดงข้อความ Hello Vue ออกมา หากเราต้องการแสดงเนื้อหาอะไรบนหน้าจอ เราจะเอามาเขียนไว้ในแท็กนี้ทั้งหมด โดยมีกฎเหล็กของส่วนที่ 1 นี้ก็คือ จะมี root element ได้เพียง 1 อันเท่านั้น

Vue Instance

Vue Instance จะมี attribute ต่างๆ ที่ต้องรู้ เริ่มจาก data ก่อน โดย attribute ตัวนี้จะใช้สำหรับเก็บ data ต่างๆ ที่ Vue Intance ใช้งาน โดย attribute ต่างๆ ทุกตัวของ Vue Instance เราจะเขียนโค้ดไว้ใน <script></script> ดังนี้

data

<script>
  export default {
    data() { 
      return {
        firstname: 'Will',
        lastname: 'Smith',
        age: 20,
        colors: ['red', 'gree', 'blug']
      }
    }
  }
</script>

เราจะใช้ {{}} สำหรับนำข้อมูลใน data ไปแสดงผล ดังนี้

<template>
  <div>
    <p>firstname: {{ firstname }}</p>
    <p>lastname: {{ lastname }}</p>
    <p>age: {{ age }}</p>
    <p>colors: {{ colors }}</p>
  </div>
</template>

computed

attribute ตัวต่อไปของ Vue Instance ที่ควรรู้จักคือ computed โดย attribute ตัวนี้มักถูกใช้เวลาเราต้องการต้องการคำนวนค่าของ data ก่อนนำออกมาใช้งาน เช่น เราต้องการใช้ชื่อเต็ม แทนที่เราจะเขียน ทั้ง firstname และ lastname ก็สามารถเขียน fullname เพียงอย่างเดียวก็ได้หากเรากำหนด fullname ไว้ใน computed attribute ดังนี้

<script>
  export default {
    data() { 
      ...
    },
    computed: {
      fullname() {
        return this.firstname + ' ' + this.lastname
      }
    }
  }
</script>

และเราสามารถเขียน <template></template> โดยใช้ fullname แทน firstname และ lastname ได้ใหม่แบบนี้

<template>
  <div>
    <p>fullname: {{ fullname }}</p>
    <p>age: {{ age }}</p>
    <p>colors: {{ colors }}</p>
  </div>
</template>

Vue Life Cycle

ช่วงชีวิตของ Vue Instance จะมีจังหวะ hook ต่างๆ ให้เราสามารถเข้าไปแทรกจังหวะได้ เช่น created()mounted() ดังนี้

<script>
  export default {
    data() { 
      ...
    },
    computed: {
      ...
    },
    created() {
      console.log('created')
    },
    mounted() {
      console.log('mounted')
    }
  }
</script>

สามารถดู Hook ต่างๆ ได้ที่นี่ Vue Lifecycle Diagram

นอกจากนี้ ยังมี attribute ต่างๆ ที่ควรทำความรู้จักเพิ่มเติมอีก เช่น methods และ components แต่ก่อนที่เราจะทำความรู้จักกับมัน เรามาทำความรู้จักกับ Directive กันก่อน

Directive

v-for

ใช้สำหรับสร้าง element ซ้ำๆ ตามจำนวนรอบที่เราต้องการ เช่น เราต้องการให้แสดง colors ใน data attribute ออกมาเป็น list แทนที่จะพิมพ์เป็น array object ออกมา แปลว่าเราต้องการทำซ้ำแท็ก <li> ดังนี้

<template>
  <div>
    <p>fullname: {{ fullname }}</p>
    <p>age: {{ age }}</p>
    <p>colors:
      <ul>
        <li v-for="color in colors">{{ color }}</li>
      </ul>
    </p>
  </div>
</template>

จากโค้ดจะเห็นว่า หากเราต้องการให้แท็กไหนถูกสร้างขึ้นซ้ำๆ เราก็ไปใช้ v-for กับแท็กนั้น

v-if และ v-else

ใช้สำหรับเลือกว่าจะแสดง หรือไม่แสดง element ที่กำหนดหรือไม่ โดยจะแตกต่างจากการซ่อนหรือไม่ซ่อนโดยที่ การซ่อนคือการที่ element นั้นๆ ถูกสร้างขึ้นมาแล้วแต่ไม่แสดงให้เราเห็น ส่วน การแสดงหรือไม่แสดงโดย v-if นั้นคือการที่ element นั้นยังไม่ถูกสร้างขึ้นมาเลยตั้งแต่แรก แต่จะถูกสร้างขึ้นมาก็ต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขเท่านั้น ในทางตรงกันข้ามหากไม่เข้าเงื่อนไข element จะถูกทำลายทิ้งไปเลย ไม่ใช่การซ่อนไม่ให้เห็น ยกตัวอย่างเช่น เราต้องการให้แสดง/ไม่แสดง old เมื่ออายุของ Person มากกว่า 20 และหากไม่ใช่ให้แสดง young ดังนี้

<template>
  <div>
    <p>fullname: {{ fullname }}</p>
    <p>age: {{ age }}</p>
    <p v-if="age > 20"> old </p>
    <p v-else> young </p>
    <p>colors:
      <ul>
        <li v-for="color in colors">{{ color }}</li>
      </ul>
    </p>
  </div>
</template>

v-on

ใช้สำหรับดักจับ event ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ดักจับว่ามีการ click ที่ element นั้นๆ หรือไม่ เราก็จะใช้ v-on:click หรือหากต้องการดักจับ event focus เราก็จะใช้ v-on:focus หรือ v-on:submit เป็นต้น ยกตัวอย่างการใช้ v-on:click ได้ดังนี้

<template>
  <div>
    <p>fullname: {{ fullname }}</p>
    <p>age: {{ age }}</p>
    <p v-if="age > 20"> old </p>
    <p v-else> young </p>
    <p>colors:
      <ul>
        <li v-for="color in colors">{{ color }}</li>
      </ul>
    </p>
    <button v-on:click="age++">Increase Age</button>
    <button v-on:click="age--">Decrease Age</button>
  </div>
</template>

จากโค้ดตัวอย่างเมื่อ click ที่ปุ่มแล้วค่าของ age จะถูกแก้ไข ให้ลองกดปุ่ม เพิ่ม ลด อายุแล้วสังเกตค่าของ Age ที่หน้าจอ รวมถึงสังเกตแท็กที่เรากำหนดเงื่อนไขด้วย v-if ว่ามันจะถูกอัพเดทโดยอัตโนมัติเมื่อค่าของ age เปลี่ยนไป

การดักจับ event ต่างๆ เราสามารถเขียนแบบสั้นๆ ได้ด้วยการใช้ @ เช่น @click="age++"

v-bind

คือการเชื่อมค่าเข้ากับ property ของแท็ก เช่น เชื่อมค่าของ data เข้ากับ property src ของ <img> โดย property ที่เราเชื่อมค่าเข้าไปจะต้องใส่เครื่องหมาย : ไว้ข้างหน้าด้วย ดังนี้ (และให้ลองเอาเครื่องหมาย : ออกดู)

<template>
  <p><img :src="profileImage"/></p>
</template>
<script>
  data() { 
      return {
        profileImage: 'https://farm6.staticflickr.com/5622/25359356909_0e07150a22_s.jpg'
      }
    },
</script>

Vue Instance (ต่อ)

methods

กลับมาที่ Vue Instance กันต่อที่ attributes methods ของ Vue Instance เราสามารถประกาศว่า Vue Instance ตัวนี้มี method อะไรให้ใช้บ้างได้โดยการกำหนดค่าให้ atteribute methods ดังนี้

<template>
  <div>
    ...
    <p>age: {{ age }}</p>
    ...
    <button @click="increaseAge">Increase Age</button>
    <button @click="decreaseAge">Decrease Age</button>
  </div>
</template>
<script>
  export default {
    ...
    methods: {
      increaseAge() {
        this.age++
      },
      decreaseAge() {
        this.age--
      }
    }
  }
</script>

จากโค้ดตัวอย่าง เราสร้าง method เพิ่ม และลด อายุ และแก้โค้ดใน <template> ให้มาเรียก method ทั้ง 2 ตัวนี้แทนเมื่อมีการ click ที่ปุ่ม

Components

attribute ตัวต่อไปของ Vue Instance ที่จะแนะนำก็คือ components ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถสร้าง Vue Instance ตัวอื่นๆ แล้วนำมาใช้ร่วมกันได้ โดยเราจะเรียกแต่ละไฟล์ว่า component เริ่มจากการสร้างไฟล์ชื่อ Create.vue แล้วให้ใส่เนื้อหาดังนี้

<template>
  <form>
  <div class="form-group">
    <label >Input new Color</label>
    <input type="text" class="form-control" placeholder="Enter color">
  </div>
  <button type="submit" class="btn btn-primary">Submit</button>
</form>
</template>

เราสามารถเรียกใช้ component Create.vue ในไฟล์ Person.vue ได้โดยกำหนดค่าให้กับ attribute components ดังนี้

<script>
  import Create from './Create.vue'
  export default {
    data() { 
      ...
    },
    computed: {
      ...
    },
    methods: {
      ...
    },
    components: {
      AppCreate: Create
    }
  }
</script>

จากโค้ดด้านบนจะเห็นว่าเราต้อง import Create.vue เข้ามาใช้งานก่อน จากนั้นไปประกาศไว้ใน attribute components โดย AppCreate เราจะตั้งเป็นชื่ออะไรก็ได้ ซึ่งชื่อนี้จะถูกใช้สร้างเป็นแท็กให้เราสามารถนำมาใช้งานได้ใน <template> กรณีที่ยกมา ถ้าใช้ชื่อ AppCreate แล้ว Vue จะสร้างแท็ก <appCreate> มาให้เราใช้ ได้ดังนี้

<template>
  <div>
    <app-create></app-create>
    ...
  </div>
</template>

ส่งค่าเข้าไปใน component

เราสามารถส่งค่าจาก Person.vue เข้าไปใน component Create.vue ได้ โดยการแก้ไขไฟล์ Person.vue ตอนที่เราเรียกใช้ <app-create></app-create> ดังนี้

<template>
  <div>
    <app-create hint="Color">Enter your favorite color</app-create>
    ...
  </div>
</template>

ต่อไปเราก็มาอ่านค่าที่อยู่ระหว่างแท็ก <app-create></app-create> และอ่านค่าของ property hint ที่เราส่งเข้าไป โดยเข้าไปแก้ไขไฟล์ Create.vue ดังนี้

<template>
  <form>
  <div class="form-group">
    <h1><slot></slot></h1>
    <label>Input new Color</label>
    <input type="text" class="form-control" :placeholder="hint">
  </div>
  <button type="submit" class="btn btn-primary">Submit</button>
</form>
</template>

จากโค้ดด้านบน เราจะใช้แท็ก <slot></slot> เพื่อบอกว่าให้นำเนื้อหาที่อยู่ระหว่างแท็ก (ที่เราเรียกใช้ในไฟล์ Person.vue) ซึ่งในที่นี้ก็คือ Enter your favorite color นำมาวางไว้ตรงนี้ และใช้ค่าของ property hint (ซึ่งก็คือ Color) ที่ได้รับมากับ attribute placeholder ของ <input>

แต่ก่อนที่เราจะรับ hint เข้ามาใน component ได้ เราจำเป็นต้องนิยามว่า component Create.vue นี้มี attribute ชื่อ hint ซะก่อน ดังนี้

<script>
export default {
  props: ['hint'],
  ...
}
</script>

ส่งค่าออกมาจาก component

สิ่งที่เราต้องการก็คือสร้าง color ใหม่ใน Create.vue และส่งสีที่สร้างขึ้นใหม่นี้กลับออกมาให้ Person.vue อัพเดทค่าบนหน้าจอ

เริ่มจากการแก้ไขไฟล์ Create.vue ก่อนดังนี้

<template>
  <form @submit.prevent="saveColor"> // (1)
  <div class="form-group">
    <h1><slot></slot></h1>
    <label>Input new Color</label>
    <input type="text" class="form-control" :placeholder="hint" v-model="color"> // (2)
  </div>
  <button type="submit" class="btn btn-primary">Submit</button>
</form>
</template>
<script>
export default {
  props: ['hint'],
  data() {
    return {
      color: '' // (3)
    }
  },
  methods: {
    saveColor() { // (4)
      this.$emit('createColor', this.color)
    }
  }
}
</script>

จากโค้ดด้านบน เราแก้ไขทั้งหมด 4 จุดดังนี้

  1. ดัก event submit ไว้ที่แท็ก <form> พร้อมกับใส่ event modifier ชื่อ prevent โดยที่ event modifier ตัวนี้ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ page reload ใหม่เมื่อมีการกดปุ่ม submit
  2. ใช้ directive v-model โดยที่ directive ตัวนี้ทำหน้าชื่อ เชื่อมค่าของ form input ต่างๆ เข้ากับ data แบบ 2-way binding ซึ่งหมายความว่า หากค่าใน data เปลี่ยน ค่าของ form input ก็จะเปลียนตาม ในทางตรงกันข้ามถ้าค่าของ form input เปลี่ยน ค่าของ data ก็จะเปลี่ยนตามเช่นกัน (ลองเปลี่ยนค่าของ color ใน data ดูจะพบว่าค่าใน form input จะเปลี่นตามทันที)
  3. ประกาศ color ไว้ใน data เอาไว้เชื่อมกับ form input ด้วย v-model ในข้อ 2
  4. สร้าง method saveColor() ซึ่งจะถูกเรียกใช้เมื่อมี event submit ที่เรา handle ไว้ในข้อ 1 โดย method นี้จะเรียกใช้ function $emit() ให้ทำหน้าที่ส่ง event ชื่อ createColor ออกมาพร้อมกับพารามิเตอร์อีกตัว โดยค่าของพารามิเตอร์นี้ก็คือ color นั่นเอง

จากนั้นกลับไปแก้ไขไฟล์ Person.vue ให้รอรับข้อมูลที่ถูกส่งออกมาจาก Create.vue โดยหลักการก็คือ ดักจับ event ชื่อ createColor ที่ถูกส่งออกมาจาก <app-create> โดยฟังก์ชั่น $emit() นั่นเอง ดังนี้

<template>
  <div>
    <app-create hint="Color" @createColor="addColor">Enter your favorite color</app-create> // (1)
    ...
  </div>
</template>
<script>
  import Create from './Create.vue'
  export default {
    data() { 
      ...
      }
    },
    computed: {
      ...
    },
    methods: {
      ...
      addColor(color) {
        this.colors.push(color) // (2)
      }
    },
    components: {
      AppCreate: Create
    }
  }
</script>

จุดที่ 1 เราเพิ่มให้แท็ก <app-create> ดักจับ event createColor และเมื่อมี event นี้เกิดขึ้นให้เรียกใช้ method ชื่อ addColor() ที่เราสร้างไว้ที่จุดที่ 2

การอ้างถึง element

หากเราต้องการให้ cursor ไป focus อยู่ที่ textfield ของ Create.vue ให้พร้อมกรอกข้อมูลเลยตั้งแต่เปิดหน้าจอมาเราสามารถทำได้โดยแก้ไขไฟล์ Create.vue โดยการอ้างถึง element ที่ต้องการ แล้วเรียกฟังก์ชั่น focus() ดังนี้

<template>
...
  <input ref="inputColor" type="text" class="form-control" :placeholder="hint" v-model="color"> // (1)
...
</template>
<script>
  ...
  },
  mounted() { // (2)
    this.$refs.inputColor.focus()
  }
</script>

จากโค้ดด้านบนเราแก้ไข 2 จุดดังนี้

  1. เพิ่ม attribute ชื่อ ref พร้อมกับกำหนดค่าให้ ซึ่งค่านี้จะกลายไปเป็นชื่อที่เราเอาไว้ใช้อ้างถึงใน script
  2. อ้างถึง element โดยใช้ this.$refs โดยการเพิ่ม code ลงไปใน hook ชื่อ mounted() และสั่งให้ focus() ทันทีที่ถูก mount element ลงใน DOM

สรุปครึ่งทางแรก

มาถึงตรงนี้เราก็น่าจะพอเห็นภาพรวมของการเขียนเว็บแอปด้วย Vue.js กันบ้างแล้ว โดยเนื้อหาหลักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ Vue Instance, Directive และ Component

ตอนต่อไปเราจะมาพูดถึงหัวข้อสำคัญอีก 2 เรื่องที่จำเป็นต้องรู้ ก็คือ Vue-Router และ Vuex

สร้าง Project ด้วย Vue CLI 3

มาเริ่มกันต่อเกี่ยวกับ Vue-Router ก่อนเลย ด้วยการสร้างโปรเจ็คจาก Vue CLI ขึ้นมาใหม่ด้วยคำสั่งนี้

$ vue create my-project

ให้เลือก Manually select features ตามรูปด้านล่าง

Vue CLI v3.0.1
? Please pick a preset:
  Router+Vuex (vue-router, vuex, babel)
  Babel+Router+Vuex+Linter (vue-router, vuex, babel, eslint)
  default (babel, eslint)
❯ Manually select features

ให้เลือก Babel, Router, Vuex, Linter / Formatter ในขั้นตอนนี้ เวลาจะเลือกให้กดปุ่ม space bar เพื่อเลือก พอเลือกเสร็จแล้วถึงจะกด Enter

Vue CLI v3.0.1
? Please pick a preset: Manually select features
? Check the features needed for your project:
 ◉ Babel
 ◯ TypeScript
 ◯ Progressive Web App (PWA) Support
 ◉ Router
❯◉ Vuex
 ◯ CSS Pre-processors
 ◉ Linter / Formatter
 ◯ Unit Testing
 ◯ E2E Testing

จากนั้นให้ตั้งค่าตามนี้

Vue CLI v3.0.1
? Please pick a preset: Manually select features
? Check the features needed for your project: Babel, Router, Vuex, Linter
? Use history mode for router? (Requires proper server setup for index fallback in production) Yes
? Pick a linter / formatter config: Standard
? Pick additional lint features: Lint on save
? Where do you prefer placing config for Babel, PostCSS, ESLint, etc.? (Use arrow keys)
❯ In dedicated config files
  In package.json

เราจะได้ folder ชื่อ my-project มา จากนั้นให้เข้าไปใน folder นี้แล้วรันคำสั่ง

$ npm run serve

Vue Router

ในเบื้องต้นให้คิดว่าเราใช้ vue router ในการกำหนดว่า เมื่อ user เข้ามาที่ path ไหน แล้วจะแสดงอะไรให้ user ดู และนอกจากนี้ยังมี hook ต่างๆ ให้เราได้ใช้งานกันอีก ไม่ว่าจะเป็นการ intercept ก่อนเข้ามาที่ path นี้หรือหลังจากที่ user ออกจาก path ที่เรากำหนดไว้ก็ได้

ใน directory src ไฟล์ที่เราสนใจคือไฟล์ router.js และ attribute ที่เราสนใจในไฟล์นี้คือ routes โดยเราจะพบว่า routes เก็บค่าเป็น array ของ object ซึ่งแต่ละ object นั้นก็คือการนิยาม router แต่ละตัวนั่นเอง ว่าถ้า user เข้ามาที่ path ไหนแล้วจะให้โหลด component ไหนเข้ามาแสดง

    {
      path: '/',
      name: 'home',
      component: Home
    }

นอกจาก attribute ทั้ง 3 ตัวที่ถูก generate มาให้เราตั้งแต่แรก เราก็ยังสามารถ config อย่างอื่นให้กับ route แต่ละอันเพิ่มได้อีก เช่น

  • Dynamic Route Maching – ทำให้เราสามารถกำหนด route maching โดยไม่ต้องกำหนดชื่อ path เป็นค่าคงที่ก็ได้ เช่น ถ้าเรากำหนด route เป็น /user/:id
    {
      path: '/user/:id',
      name: 'user-detail',
      component: User
    }

เวลามีคนเรียก path มาที่ /user/123 เราก็สามารถอ่านค่านี้ได้เลยจากใน Vue Instant ว่า this.$route.params.id แล้วจะได้ค่า 123 มาใช้งาน

หัวข้ออื่นๆ ที่น่าสนใจหากต้องการลองเล่นอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวสกับ Vue Router ผมแนะนำให้เริ่มอ่านจากหัวข้อเหล่านี้ต่อ

  • Nested Route
  • Programmatic Navigation – ช่วยให้เราเขียนโค้ดส่งให้ user ไปยังหน้าจอต่างๆ ได้ตามเงื่อนไขต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโปรแกรมของเรา
  • Navigation Gaurd – ช่วยให้เราทำอะไรก่อนหลังการเข้ามาที่ route ได้ เช่นการตรวจสอบว่าถ้าเปิดมาที่ path นี้แล้วยังไม่ให้ login เราก็จะ redirect ไปที่หน้า login เป็นต้น แต่ที่ต้องจำไว้อย่างหนึ่งก็คือการ การเปลี่ยน query หรือเปลี่ยน parameter ตอนเรียก URL นั้นจะไม่ trigger navigation guard และหากต้องการรู้ว่า parameter หรือ query เปลี่ยนให้เลี่ยงไปใช้ watch ของ Vue Instance แทน

App.vue

ต่อไปเราจะมาดูที่เนื้อหาในไฟล์ App.vue กัน จากที่ Vue CLI 3 scaffold project มาให้เรา เราจะได้ไฟล์นี้มา และไฟล์นี้ถูกกำหนดให้เป็นเป็นไฟล์ที่เป็นหน้าจอแรกหรือหน้าจอหลักที่ถูกแสดงขึ้นมาบนเว็บ ส่วนที่ว่าทำไมไฟล์นี้ถึงเป็นไฟล์แรกนั้น ให้เข้าไปดูเนื้อหาในไฟล์ main.js จะเห็นว่า Vue Instance ถูกสร้างขึ้นมา พร้อมกับกำหนด router และ สั่งให้ render component ชื่อ App และ mount มันเข้ากับ element ที่มี id = app ส่วน element ไหนมี id = app นั้นให้ลองเปิดดูไฟล์ /public/index.html ซึ่งเรื่องราวที่มาที่ไปทั้งหมด สามารถอ่านเพิ่มเติมต่อได้ใน Official Guide ของ Vue.js

App.vue ไฟล์นี้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ Vue Router ดังนี้

<template>
  <div id="app">
    <div id="nav">
      <router-link to="/">Home</router-link> |  // (1)
      <router-link to="/about">About</router-link>  // (2)
    </div>
    <router-view/>  // (3)
  </div>
</template>

จากโค้ดที่ยกมาแบ่งอธิบายได้ 3 จุด ดังนี้

จุดที่ (1) และจุดที่ (2) ปกติแล้วเวลาเราจะสร้าง link ให้ไปยัง path ต่างๆ ที่เรากำหนดไว้ใน router เราจะใช้แท็ก <router-link>

ตามตัวอย่าง router link ตัวแรกจะ link ไปที่ / ส่วน router link ตัวที่สองจะ link ไปที่ /about ซึ่งแต่ละ path ที่ link ไปนั้นจะไปโหลด component ไหนให้ลองกลับไปดูเนื้อหาในไฟล์ router.js

แท็ก <router-link> จะสร้างแท็ก <a> มาให้เรา พร้อมกับกำหนดว่าจะให้ link ไปที่ path ใด ซึ่งเราสามารถกำหนดค่าต่างๆ เพิ่มให้กับ <router-link> ได้อีก เช่น แทนที่เราจะกำหนดเป็น path ไปก็สามารถกำหนดเป็นชื่อของ route ก็ได้ดังนี้

<router-link :to="{ name: 'home' }>Home</router-link>

จุดที่ (3) คือแท็ก <router-view> เอาไว้กำหนดว่า เมื่อ component นี้ถูกแสดง (ในที่นี้คือ App.vue) แล้วให้นำ component ที่ match กับ route ที่เรากำหนดค่าไว้ใน router.js มาแสดงแทนที่แท็ก <router-view> ตรงนี้

อ่านเพิ่ม

  • Lazy Loading Routes – บาง component เรายังไม่อยากให้โหลดมาตั้งแต่ตอนแรก เราสามารถกำหนดได้ว่าให้โหลดมาตอนไหนในภายหลังได้ ว่าจะโหลดมาเฉพาะ component โดดๆ หรือโหลดมาพร้อมกับ component อื่นๆ โดยกำหนด chunk file ให้กับมันได้อีกที

Vuex

Vuex คือ state management pattern + library ช่วยให้เราเก็บข้อมูลต่างๆ ในแอปของเราไว้ที่เดียวกัน ให้เราเรียกใช้ และเข้าถึงมันได้ง่าย ซึ่งเจ้า Vuex นี้ยังถูก integrate เข้ากับ Vue Devtool ให้เราสามารถเข้าไปดู state ต่างๆ ได้ง่าย และยังควบคุมสถานะต่างๆ ได้โดยไม่ต้อง config อะไรเลย

สามารถโหลด Vue Dev Tool Chrome Extension ได้ที่นี่ มันเป็น extension ที่ทุกคนควรใช้ ทำให้เรา debug Vue Application ได้ง่ายขึ้นมากๆ ทำให้เราสามารถดูสถานะต่างๆ แก้ไขค่าในตัวแปร ดูตัวแปรที่มีให้เราใช้ ณ​ ขณะนั้นๆ ฯลฯ ได้ผ่าน Vue Dev Tool

ในระหว่างที่ลองเล่นกับ Vuex แนะนำว่าควรเปิด Vue Dev Tool Extension ควบคู่ไปด้วย จะช่วยทำให้เราเข้าใจมากขึ้น

หลังจากที่เรา Scaffold Vue Project มาแล้วเราสามารถตามไปดูร่องรอยของ Vuex ได้ที่ 2 ไฟล์นี้ เริ่มจาก /src/main.js – มีการกำหนด store ให้ตั้งแต่ตอนสร้าง Vue instance โดยใช้ค่าที่ export มาจาก /src/store ดังนี้

import Vue from 'vue'
import App from './App.vue'
import router from './router'
import store from './store'

Vue.config.productionTip = false

new Vue({
  router,
  store,
  render: h => h(App)
}).$mount('#app')

จากนั้นเราลองตามไปดูในไฟล์ /src/store.js ก็จะพบว่าไฟล์นี้ export Vuex.Store instance ออกไป พร้อมกับกำหนด property ต่างๆ ใน Vuex ได้แก่ statemutationsactions ดังนี้

import Vue from 'vue'
import Vuex from 'vuex'

Vue.use(Vuex)

export default new Vuex.Store({
  state: {

  },
  mutations: {

  },
  actions: {

  }
})

จุดที่เราต้องสนใจต่อจากนี้ก็คือไฟล์ /src/store.js ที่เราจะใช้เป็นที่เก็บ state ของแอปเรา มาเริ่มดูกันทีละ attribute กันต่อดังนี้

state

Vuex เป็น single state tree หมายความว่าใน Application ของเรานั้นจะมี state ได้เพียงอันเดียวเท่านั้นเป็น single source of truth ซึ่งช่วยให้เราทำ snapshot เพื่อ debug แอปของเราได้ง่าย

เริ่มจากลองกำหนดค่าให้กับ state

state: {
  items: ['a']
}

เราสามารถอ้างถึงค่านี้จากที่ไหนก็ได้ในแอป เช่น

methods: {
  addTodo() {
    this.$store.state.items.push('b')
  },
  deleteItem(index) {
    this.$store.state.items.splice(index, 1)
  }
}

mutations

ทีนี้เราจะย้าย logic จากที่เคยเรียกตรงๆ จากที่อื่นเข้ามาไว้ใน store ของเรา โดยกฏเหล็กข้อหนึ่งของ mutations ก็คือ mutation handler functions จะต้องเป็น synchronous เท่านั้น (เหตุผล)

ลองเพิ่มเนื้อหาใน mutation ดังนี้

mutations: {
  'ADD_ITEM' (state, payload) {
    state.items.push(payload.item)
  }
}

จากโค้ดเราจะมี mutation ชื่อ ADD_ITEM เอาไว้ให้เรียกใช้ได้จากที่ไหนก็ได้ในแอปเช่นกัน เช่น

addTodo() {
  this.$store.commit('ADD_ITEM', { item: 'b'})
},

actions

คล้ายกับ mutations แต่สิ่งที่ต่างออกไปก็คือ

  • แทนที่จะแก้ไข data ที่ state ตรงๆ ก็จะใช้วิธี commit mutation แทน
  • โค้ดใน action สามารถเป็น aynschronous ได้

ใน action ก็จะรับ payload เข้ามาแล้วสั่ง commit mutation อีกที ดังนี้

actions: {
  addItem({ commit }, payload) {
    commit('ADD_ITEM', payload)
  }
}

และวิธีเรียกใช้งาน actions ทำได้ดังนี้

addTodo() {
  this.$store.dispatch('addItem', { item: this.item })
},

getters

นอกจาก attribute state, mutations, action ที่เราได้มาตั้งแต่ตอนแรกแล้ว ยังมีอีกตัวก็คือ getters เรามักใช้ getters ในกรณีที่เราต้องการคำนวนค่าของ state ก่อนนำออกมาใช้งาน ก็คือเราจะไม่อ้างไปถึง state ตรงๆ นั่นแหละ ไม่ว่าจะกำหนดค่า (ผ่าน action) และการดึงค่าออกมาเราก็จะทำผ่าน getters ตัวอย่างเช่น เราต้องการนับว่า items มีกี่อันแล้วใน state เราจะทำแบบนี้

getters: {
  todoCount(state) {
    return state.items.length
  }
}

แล้วเวลาเรียกใช้เราก็สามารถเรียกใช้ได้แบบนี้

let itemCounts = this.$store.getters.todoCount

แต่โดยมากแล้วเราจะไม่อ้างถึง this.$store ตรงๆ แบบนี้เพื่อ commit mutation, get state หรืออะไรก็แล้วแต่เกี่ยวกับ store แต่จะส่งข้อมูลเข้าออก state ผ่าน mapActionsmapGetters แทน (อย่างไรก็ตาม ยังมี mapMutations และ mapState) ดังนี้

<script>
import { mapActions, mapGetters } from 'vuex'
export default {
  computed: {
    ...mapGetters({
      todoCount: 'todoCount'
    })
  },
  methods: {
    ...mapActions({
      addItem: 'addItem'
    }),
    addTodo() {
      this.addItem({item: 'b'})
    }
  }
}
</script>

โดย mapActions จะ return ออกมาเป็น actions ทั้งหมดที่เรามีใน store และเช่นเดียวกัน mapGetters จะ return getters ทั้ืหงมดที่เรามีออกมาให้เราใช้ โดยเราสามารถระบุ actions หรือ getters ที่ต้องการนำมาใช้ได้ตามโค้ดตัวอย่างด้านบน จะทำให้ vue instance ตัวนี้มองเห็น computed attribute ตัวอื่นๆ และมองเห็น method ตัวอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งสามารถเรียกใช้ได้ตามปกติ

อ่านเพิ่ม

มาถึงตรงนี้ เราก็ได้ทำความรู้จักกับ Vue.js กันมาประมาณหนึ่งแล้ว ตั้งแต่ Vue Instance, Directive, Component, Vue Router และ Vuex หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้สามารถเริ่มต้น Vue.js ได้อย่างรวดเร็ว สำหรับคนที่ต้องการความรวดเร็วในการเริ่มต้นได้ไม่น้อย

You may also like