บางครั้งคนที่เก่งที่ฉลาดและมีความสามารถเมื่อได้รับตำแหน่งผู้บริหารแล้วกลับไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ตรงกันข้ามกับบางครั้งคนที่ไม่ได้เก่งโดดเด่น มีเพียงความสามารถอยู่ในระดับดี เมื่อรับตำแหน่งผู้บริหารแล้วกลับประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง เรื่องนี้ทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่าการเลือกคนให้มารับตำแหน่งผู้บริหารนั้น เป็นเรื่องของศิลปะมากกว่าวิทยาศาสตร์
อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการเป็นผู้นำก็คือ สถานการณ์ เนื่องจาก สถานการณ์ที่แตกต่างกัน นั้นต้องการผู้นำที่แตกต่างกันตามไปด้วย เช่น ถ้าควบรวบกิจการก็ต้องการผู้นำที่เป็นนักเจรจา ในขณะที่พลิกฟื้นบริษัทต้องการผู้นำที่มีความเด็ดขาด เป็นต้น
มีงานวิจัยและการศึกษาอื่นๆ มากมายที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความฉลาดทางอารมณ์นั้นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะผู้นำที่ประสบความสำเร็จ
สิ่งที่ผู้นำที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่มีเหมือนกันคือการมี ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ในระดับสูง กรณีนี้ไม่ได้แปลว่า IQ หรือทักษะความสามารถเกี่ยวกับการทำงานนั้นไม่สำคัญ แต่มันเป็นสิ่งที่ผู้นำทุกคนควรมีเป็นพื้นฐานอยู่แล้วแต่แรก ถ้าขาดความฉลาดทางอารมณ์ไป ก็แทบจะไม่สามารถเป็นผู้นำที่เยี่ยมยอดได้เลย
มีงานวิจัยหนึ่งได้วิเคราะห์ competency models ของบริษัททั้งหมด 188 แห่ง และพบว่า
- ความฉลาดทางอารมณ์มีความสำคัญกับการทำงานในทุกระดับมากกว่าปัจจัยอื่น อย่างความสามารถเฉพาะทางที่ใช้ในการทำงาน และระดับสติปัญญาถึง 2 เท่า
- ความฉลาดทางอารมณ์มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของผู้บริหารมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ความต่างในด้านทักษะความสามารถกลับแทบไม่มีความสำคัญ
นั่นแปลว่า ยิ่งผู้นำที่มีผลงานโดดเด่นมากเท่าไหร่ เรายิ่งเห็นได้ชัดว่าผู้นำคนนี้มีความฉลาดทางอารมณ์ในระดับสูง ส่งผลให้พวกเขามีประสิทธิผลในการทำงานที่สูงตามไปด้วย
และยิ่งลองเปรียบเทียบระหว่างผู้บริหารที่โดดเด่นกับผู้บริหารธรรมดา ก็พบว่า กว่า 90% เป็นผลมาจากความฉลาดทางอารมณ์ ไม่ใช่ทักษะทางสติปัญญา
กล่าวโดยสรุปคือ ผลประกอบการที่ออกมาเริ่มทำให้เราเชื่อว่าความสำเร็จของบริษัทมีความเชื่อมโยงกับความฉลาดทางอารมณ์ของผู้บริหารระดับสูงจริง และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่านั้นคือ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า คนเราสามารถพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ได้ หากเลือกวิธีที่เหมาะสม
เมื่อความฉลาดทางอารมณ์มีความสำคัญต่อผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จมากขนาดนี้ ต่อไปนี้จะอธิบายว่าความฉลาดทางอารมณ์มีองค์ประกอบอะไรบ้าง
องค์ประกอบ 5 ส่วน ของความฉลาดทางอารมณ์
องค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์นั้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่กลุ่มที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการตัวเอง ได้แก่ การรู้จักตนเอง การควบคุมตนเอง และการมีแรงจูงใจ กับกลุ่มที่เกี่ยวกับการบริหารความสัมพันธ์ ได้แก่การมีความใส่ใจผู้อื่น และการมีทักษะทางสังคม
1. การรู้จักตนเอง
คนที่รู้จักตนเองจะเป็นคนซื่อตรงต่อตนเองและผู้อื่น รู้จักจุดแข็ง จุดอ่อน แรงขับ ค่านิยม เป้าหมาย และความต้องการของตัวเอง พวกเขาจึงทำงานด้วยความกระปรี้กระเป่าอยู่เสมอ อีกทั้งยังประเมินตัวเองตรงไปตรงมา พูดถึงความรู้สึกและผลกระทบต่อการทำงานอย่างตรงไปตรงมา และสามารถมีอารมณ์ขันได้แม้จะทำเรื่องที่ผิดพลาด
พวกเขามีความมั่นใจในตัวเอง รู้ชัดเจนว่าทำได้ หรือไม่ได้ ตอนไหนต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น รู้ว่าอะไรยากเกินที่จะต้องรับมือเพียงลำพัง รู้จักใช้จุดแข็งของตัเองให้เป็นประโยชน์ และหยุดตัวเองไม่ให้ทำสิ่งที่รู้ว่าเป็นจุดด้อยของตัวเอง พวกเขามักยอมรับความล้มเหลวได้อย่างตรงไปตรงมา และมักเล่าเรื่องราวดังกล่าวด้วยรอยยิ้ม
อ่านเพิ่มเกี่ยวกับการหาจุดแข็ง จุดอ่อน และการรู้จักตนเอง ได้ที่บทความนี้
2. การควบคุมตนเอง
เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงอารมณ์ความรู้สึกของเราได้ เนื่องจากมันเป็นแรงกระตุ้นทางจิตวิทยา แต่เราสามารถจัดการกับมันได้ ทำให้ไม่ต้องตกเป็นทาสของอารมณ์ เช่น กรณีที่เราพบว่าคนในทีมทำงานไม่ดีพอ แทนที่เราจะแสดงท่าทางหงุดหงิดใส่ ก็กลับเลือกใช้คำพูดด้วยความระมัดระวัง รับรู้ว่าทีมปฏิบัติงานได้ไม่ดี แต่ไม่ด่วนสรุปตัดสินพวกเขา กลับไปคิดว่าเพราะอะไรกันแน่ทีมถึงทำงานได้ไม่ดีอย่างที่เราคาดหวัง
การควบคุมตนเองได้ จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานแบบที่ทุกคนไว้วางใจกันได้ และมีความเป็นธรรม เป็นสภาพแวดล้อมที่เล่นเกมการเมืองและทะเลาะกันน้อยลง
คนที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้จะสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดี มีความซื่อสัตย์ต่อองค์กรและต่อบุคคล สามารถปฏิเสธสิ่งเย้ายวนต่างๆ ได้ดี เมื่อมีโอกาสที่สามารถทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้ ก็ไม่ทำ ส่วนคนที่ควบคุมแรงกระตุ้นภายในตัวไม่ค่อยได้ก็จะเลือกทำในสิ่งที่ผิด อีกทั้งยังอาจถูกมองว่าเป็นคนเย็นชาได้ในบางครั้ง
3. การมีแรงจูงใจ
แรงจูงใจแบ่งออกเป็นแรงจูงใจจากภายนอก เช่นเงินเดือน ตำแหน่ง ฐานะทางสังคม และค่าตอบแทนต่างๆ คนทั่วไปจะให้ความสำคัญสูงสุดกับแรงจูงใจภายนอก แต่แต่คนที่มีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำนั้น จะใช้แรงจูงใจที่เกิดจากความปราถนาภายในที่อยากได้ความสำเร็จเป็นหลัก
คนที่ทำงานโดยใช้แรงจูงใจจากภายใน พวกเขาจะมีความรักในงานที่ทำ มองหาสิ่งที่ท้าทายความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง รักที่จะเรียนรู้ ภูมิใจเมื่องานสำเร็จลุล่วง มีพลังเหลือล้นในการทำสิ่งต่างๆ ให้ดีกว่าเดิม ไม่พอใจกับสภาพความเป็นอยู่ คอยตั้งคำถามอยู่เสมอ และมีความกะตือรือร้นที่จะหาวิธีทำงานใหม่ๆ ตลอดเวลา ยกระดับมาตรฐานงานของตนเองอยู่เสมอ และคอยติดตามผลงานของตัวเองตลอดเวลา อีกทั้งยังสังเกตได้จากการที่เขารู้สึกดี และขอบคุณองค์กรที่ทำให้เขาได้ทำงานนั้นๆ
ที่น่าสนใจคือ คนที่มีแรงจูงใจสูงยังมองโลกในแง่ดีแม้ว่าผลงานจะออกมาไม่ดีอีกด้วย
แล้วการมีแรงจูงใจ ทำให้เป็นผู้นำที่แข็งแกร่งได้อย่างไร? กล่าวคือ ถ้าเราตั้งมาตรฐานตัวเองไว้สูง เราก็จะทำแบบเดียวกันกับองค์กรที่เราทำงานอยู่ด้วย และอาจทำให้คนอื่นอยากเอาอย่างคุณด้วยเช่นกัน ดังนั้นผู้นำลักษณะแบบนี้จึงมักสร้างทีมงานที่มีคนแบบเดียวกับตัวเอง
4. การมีความใส่ใจผู้อื่น
สำหรับผู้นำแล้ว การมีความใส่ใจผู้อื่น หมายถึงการคำนึงถึงความรู้สึกของพนักงาน และปัจจัยอื่นๆ เพื่อให้ตัดสินใจอย่างฉลาด ซึ่งการเอาใจใส่ผู้อื่นนับเป็นองค์ประกอบสำคัญมากของภาวะผู้นำในยุคนี้ด้วยเหตุผลหลัก 3 ข้อ คือ
- องค์กรมีการทำงานเป็นทีมมากกว่าแต่ก่อน — นั่นหมายถึงการทำงานร่วมกันมากขึ้น การมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น
- กระแสโลกาพิวัฒน์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว — ความหลากหลายทางความเชื่อ ความรู้สึก และความเป็นไปที่เพิ่มมากขึ้น อาจทำให้เราเผลอทำอะไรผิดพลาดได้ง่ายขึ้น เราควรพยายามสังเกตเห็นแม้แต่ความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยทางภาษากายที่แสดงออกมา และได้ยินสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการสื่อแม้จะไม่ได้พูดออกมาก็ตาม
- ความจำเป็นในการรักษาคนเก่งไว้กับองค์กรมีมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก เพราะในยุคเศรษฐกิจแห่งความรู้อย่างทุกวันนี้ เมื่อคนเก่งออกไปจากองค์กร พวกเขาก็จะนำความรู้ขององค์กรติดตัวออกไปด้วย
ผู้บริหารที่ไม่มีความใส่ใจต่อผู้อื่น ส่วนหนึ่งเราสามาถสังเกตได้จากการเป็นผู้ฟังที่ไม่ดี มักขัดจังหวะคนอื่น และไม่สนใจสิ่งที่คนอื่นกำลังพูด
5. การมีทักษะทางสังคม
ทักษะทางสังคมเกิดจากการมีองค์ประกอบอื่นของความฉลาดทางอารมณ์ทั้งหมดที่กล่าวมา และการมีทักษะทางสังคมไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด เพราะไม่ใช่แค่การมีมนุษย์สัมพันธ์ดี แต่คือการมีมนุษยสัมพันธ์อย่างมีเป้าหมาย เพื่อชักนำให้คนอื่นเดินไปในทางที่คุณต้องการ
คนที่มีทักษะทางสังคมสูงมักมีคนรู้จักในวงกว้าง มีความสามารถผูกมิตรกับคนอื่น เขาจะแน่ใจว่าตนเองจะไม่ต้องทำงานที่สำคัญตามลำพัง พวกเขาจะมีคนรู้จักที่พร้อมให้ติดต่อเมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้งานเสมอ
ผู้นำจะอยู่โดดเดี่ยวไม่ได้ งานของผู้นำจะสำเร็จได้ต้องอาศัยคนอื่น และทักษะทางสังคมช่วยให้เป็นเช่นนั้น ทักษะทางสังคมจึงถือเป็นความสามารถหลักของผู้นำในบริษัทส่วนใหญ่
หากผู้นำมีความใส่ใจผู้อื่นแต่แสดงออกมาไม่เป็นก็ไม่มีประโยชน์
หากผู้นำมีแรงจูงใจแต่ไม่สามารถสื่อให้คนในองค์กรรับรู้ถึงความรักที่มีต่องานได้ คงไม่เกิดอะไรขึ้น
ดังนั้นทักษะทางสังคมจึงช่วยให้ผู้นำสามารถใช้ความฉลาดทางอารมณ์ให้เป็นประโยชน์ในการทำงานได้
ความฉลาดทางอารมณ์เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้
เราบอกไม่ได้ว่าปัจจัยใดมีบทบาทมากกว่ากัน ระหว่าง ลักษณะทางพันธุกรรมและการเลี้ยงดู ซึ่งต่างก็มีผลต่อความฉลาดทางอารมณ์ แต่สิ่งที่เรารู้แน่ๆ ก็คือ ความฉลาดทางอารมณ์สามารถเรียนรู้กันได้
ความฉลาดทางอารมณ์จะเพิ่มขึ้นตามอายุ หรือที่เราเรียกว่า “วุฒิภาวะ” ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่หลักสูตรจำนวนมากมุ่งฝึกทักษะการเป็นผู้นำ ซึ่งรวมถึงความฉลาดทางอารมณ์โดยให้ความสำคัญกับสมองส่วนใน ซึ่งเป็นสมองผิดส่วน
สมองส่วนในจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดด้วยวิธีการจูงใจ การฝึกอย่างต่อเนื่อง และการได้รับความคิดเห็นจากคนอื่น แต่การฝึกอบรมเรื่องการเป็นผู้นำมักมุ่งเป้าไปที่สมองส่วนหน้า ซึ่งควบคุมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ตรรกะต่างๆ ซึ่งก็ไม่แปลกใจที่สมองส่วนนี้จะตกเป็นเป้าของหลักสูตรฝึกอบรม
องค์กรต่างๆ จึงต้องปรับจุดเน้นของหลักสูตรให้ครอบคลุมสมองส่วนในด้วยเพื่อเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งต้องอาศัยเวลามากกว่าหลักสูตรอบรมปกติ และยังต้องการแนวทางที่แตกต่างกันไปสำหรับแต่ละบุคคลด้วย
การสร้างความฉลาดทางอารมณ์จะเกิดขึ้นไม่ได้หากคนคนนั้นไม่ได้ต้องการพัฒนาอย่างแท้จริง และไม่ทุ่มเทพยายามอย่างเต็มที่ ถึงแม้การเรียนรู้ที่จะมีความใส่ใจผู้อื่นจนกลายเป็นนิสัยติดตัวได้นั้น เป็นเรื่องที่ยากกว่าการฝึกฝนตนเองให้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์มาก แต่ก็สามารถทำให้สำเร็จจนได้
ระดับสติปัญญาและความสามารถที่ใช้ในการทำงานเป็นองค์ประกอบของผู้นำที่แข็งแกร่ง แต่จะไม่ครบสูตรหากขาดความฉลาดทางอารมณ์ไป ที่ผ่านมาเคยคิดกันไว้ว่ามีไว้ก็ดี แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่าผู้นำที่สามารถสร้างผลงานได้ยอดเยี่ยมนั้นจะต้องมีองค์ประกอบเหล่านี้อยู่อย่างครบถ้วน
โชคดีที่ความฉลาดทางอารมณ์เป็นสิ่งที่เรียนรู้กันได้ แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายก็ตามแต่เมื่อพัฒนาได้แล้ว จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวบุคคลและองค์กรที่ทำงานอยู่
บทความนี้อ้างอิงมาจากบทความต้นฉบับ What Makes a Leader? โดย Daniel Goleman — 1998 เผยแพร่โดย Harvard Business Review
1 comment
[…] Book […]
Comments are closed.